Sunday, April 22, 2012

สมถะและวิปัสสนาหมายความว่าอย่างไร




 
สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน

เป็นไงบ้างได้ฝึกพลังจิตกันบ้างรึเปล่าคะ ถ้ายังไม่คิดที่จะฝึกก็บ่เป็นหยังดอก เอาแค่ฝึกจิตให้มีความสงบก็ได้จ๊ะ การฝึกพลังจิตบางอย่าง อาจจะยากไปหน่อยสำหรับท่านที่ไม่เคยสะสมมาก่อน แต่ถ้ามีความสนใจจริง ๆ  จะลองฝึกก็ได้ด้วยอาศัยความเพียรและขันติ ฝึกอย่างต่อเนื่องจึงจะเห็นผล บางท่านอาจจะสนใจเรื่องความสงบของจิตแบบประเภทสมถภาวนา หรือวิปัสสนามากกว่า วันนี้ก็จะขอแนะนำเกี่ยวกับเรื่อง "สมถและวิปัสสนา" เพื่อเป็นประโยชน์ในขั้นพื้นฐานก่อนนะคะ

สมถะและวิปัสสนาหมายความว่าอย่างไร
สมถะ เป็นภาษาบาลี หมายถึง ความสงบจากอกุศล สงบจากกิเลสทั้งหลาย จึงจะชื่อว่าเป็นความสงบจริง ๆ  การไปสู่ทุ่งหญ้าทุ่งนา ป่าเขา หรือในสถานที่ที่ไม่มีผู้คน หรืออยู่คนเดียวในห้องหรือในถ้ำ นั่นไม่ใช่ความสงบ ใจของเราต่างหากที่สงบ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญาที่จะระลึกรู้สภาพจิตของตน ว่าขณะนี้มีโลภะหรือความต้องการอะไรหรือไม่  มีโทสะหรือความขุ่นเคืองใจมั้ย มีอกุศลกรรมใดหรือมีความคิดนึกที่เป็นอกุศล ที่เป็นไปในทางเบียดเบียน ประทุษร้ายบุคคลอื่นหรือเปล่า มีความคิดวิตกเรื่องการงาน ยุ่งเรื่องโน่นเรื่องนี้ ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่ความสงบของจิต

วิปัสสนา เป็นภาษาบาลี หมายถึง ปัญญาที่เห็นแจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ตามความเป็นจริงในขณะนี้  ถ้าไม่เข้าใจเช่นนี้ก็จะไปทำอะไรผิด ๆ แล้วก็ไปเห็นอะไรต่าง ๆ ทำให้เกิดความพอใจบ้าง ดีใจบ้าง เกิดความกลัวบ้าง ตกใจบ้าง เช่น เห็นเทวดาก็เกิดความดีใจ พอเห็นผีหรือเห็นนรกก็ตกใจกลัว ขณะนั้นไม่ใช่ของจริงเลย เพราะว่าเป็นการนึกคิดเหมือนความฝัน เวลาฝันไม่ใช่ของจริง แต่เหมือนจริงฉันใด ขณะนั่งหลับตาแล้วเห็นอะไรต่าง ๆ นานา เรียกว่าเหมือนจริงก็ฉันนั้น....ของจริงที่มีจริงคือขณะนี้ มีเห็น มีได้ยิน เป็นต้น ขณะนี้เป็นของจริงโดยที่ไม่ต้องนึกฝัน หรือว่าสร้างภาพอะไรขึ้นมา....เพราะฉะนั้นเรื่องของปัญญาต้องค่อย ๆ เจริญอบรมให้มีความเข้าใจในพระธรรมโดยแท้จริงเสียก่อน แล้วก็จะไม่ถูกความต้องการ (โลภะ) พาไป ทำให้มีความเข้าใจผิด ๆ

ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยื่งแก่ตน จึงควรเริ่มต้นด้วยการฟังพระธรรมให้เข้าใจเสียก่อน แทนที่จะไปคิดเรื่องเจริญสมถะและวิปัสสนา ซึ่งเป็นกุศลขั้นที่สูงมาก....สมถะเป็นความสงบไม่ใช่แค่ชั่วครั้งชั่วคราวเหมือนกับความสงบ ขณะให้ทาน ขณะรักษาศีล ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ว่าความสงบของจิตจะมั่นคงขึ้นได้ จะต้องประกอบด้วยปัญญา พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นปัญญาจริง ๆ  สติสัมปชัญญะปกติจริง ๆ เป็นขั้นความสงบ ที่สามารถทำให้เกิดเป็นอรูปพรหมในอรูปพรหมภูมิได้  แต่ว่ายังดับกิเลสไม่ได้  เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ทรงแสดงหนทางให้รู้แจ้งธรรมะ จนสามารถดับกิเลสได้จริง สิ่งหนึ่งที่จะทำให้จิตสงบได้ก็คือ "ปัญญา" ปัญญาในพระพุทธศาสนาต่างกับปัญญาทางโลก ถ้าศึกษาจริง ๆ แล้วจะรู้ว่า ปัญญาจริง ๆ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ที่สามารถทำให้หมดกิเลสได้....

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ปัญญาสามารถเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง....ทุกคนมีจิตแต่ไม่เคยพิจารณาอย่างถูกต้อง มีแต่ความต้องการ เพียงแค่ได้ยินคำว่า "สมถะ" ก็อยากจะไปทำแล้ว ความอยากไม่ใช่ความสงบ ความอยาก ความติดข้อง ความต้องการมีหลายอย่าง บางคนชอบดูสิ่งของสวย ๆ งาม ๆ  บางคนชอบฟังเสียงเพราะ ๆ  บางคนชอบกินอาหารอร่อย ๆ บางคนชอบกลิ่นน้ำหอม  บางคนชอบสัมผัสถูกต้องสิ่งอ่อนนุ่ม บางคนชอบคิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ  จะเห็นได้ว่าเรามีความต้องการสิ่งต่าง ๆ ซึ่งไม่พ้นไปจากทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ....บางอย่างเพียงแค่ได้ยิน เราก็เกิดความอยากเสียแล้ว เช่น คำว่า ความสงบ สมถะ นิพพาน นี่
แหละคือโลภะอีกรูปแบบหนึ่ง หรือว่าอยากจะเป็นคนดี อย่างนี้ไม่ใช่ปัญญา แต่เป็นเรื่องของโลภะ เพราะเหตุว่าโลภะบางครั้งก็ต้องการกุศล อยากได้ผลของกุศล  ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของอกุศล ไม่นำมาซึ่งความสงบ  ถ้าเป็นเรื่องของปัญญาแล้ว ต้องรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น ถ้ากำลังโกรธ สภาพที่โกรธมีจริง ๆ ปัญญาสามารถที่จะเห็นความกระด้างของจิตใจขณะที่โกรธ และก็รู้ตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมนี้ ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น ทำหน้าที่ตามกำลังของความโกรธนั้น
เพราะฉะนั้นก่อนอื่น จึงควรเข้าใจความหมายของคำที่ได้ยินได้ฟังก่อน อย่าเพิ่งไปทำอะไร เพราะว่าถ้ายังไม่เข้าใจ ก็จะทำไปผิด ๆได้ ถ้าฟังแล้วยังไม่เข้าใจก็ฟังซ้ำ ๆ อีก และพิจารณาไตร่ตรองจนกว่าจะเข้าใจเพิ่มขึ้นทีละน้อย  จนสามารถเป็นปัญญาของตนเอง

เพราะฉะนั้นก่อนที่ท่านจะอบรมเจริญสมถะและวิปัสสนา ก็จะต้องเริ่มต้นด้วยความถูกต้อง ด้วยการสะสมปัญญาหรือความเข้าใจขั้นต้นเสียก่อน  การที่ได้ฟังพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่ง ต้องเป็นผู้ที่เคยได้สะสมบุญบารมีมาแต่ชาติปางก่อน ชาตินี้จึงได้ฟังอีก ขอโอกาสอันประเสริฐยิ่งนี้ จงเป็นของท่านผู้อ่านทุกท่านเถิด

                                                   ................................