Tuesday, February 12, 2013

ลักษณะของจิต (ตอนที่ ๒)




ที่  "จิต"  ชื่อว่า  "มโน"  เพราะรู้อารมณ์....คำว่า  อารมฺมณ (อารมณ์)  หรือ อาลมฺพน  หมายถึงสิ่งที่จิตรู้  เมื่อจิตซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้เกิดขึ้น  สิ่งที่จิตกำลังรู้ในขณะนั้น  ชื่อว่า  "อารมณ์"

เสียงมีจริงไหม....เมื่อมีสิ่งที่แข็งกระทบกัน ก็เป็นปัจจัยให้เกิดเสียงขึ้น  แต่ถ้าในขณะนั้นจิตไม่เกิดขึ้นรู้เสียงนั้น  เสียงนั้นก็ไม่เป็นอารมณ์  ฉะนั้น  ไม่ว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย  แต่ขณะใดจิตไม่รู้สิ่งนั้น  สิ่งนั้นก็ไม่เป็นอารมณ์

ที่  "จิต"  ชื่อว่า  "หทัย"  เพราะมีความหมายว่า เป็นสภาวะอยู่ภายใน....จิตเป็นสภาพภายใน  เพราะเป็นสภาพรู้อารมณ์ที่ปรากฏ  อารมณ์เป็นสภาพธรรมภายนอก  เพราะเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้

ฉะนั้น  การศึกษาเรื่องจิตจึงเป็นการพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้  ทั้งภายในและภายนอก  จึงจะรู้ลักษณะของจิตได้....จิตมีจริง  แต่อยู่ที่ไหน  จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นภายใน  ในขณะที่เห็น  จิตไม่ได้อยู่ข้างนอก  สีสันวัณณะกำลังปรากฏภายนอก

การอบรมเจริญปัญญานั้น  ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง  ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง  ฉะนั้น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน  คือ ขณะใดที่เห็นแล้วระลึกได้ ไม่หลงลืมที่จะพิจารณา  ศึกษา สังเกต ค่อย ๆ รู้ขึ้นว่า สภาพเห็นเป็นสภาพรู้  เป็นธาตุรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง  สติสามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า สภาพที่กำลังได้ยินเสียง เป็นสภาพรู้  เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นภายใน  จึงยากที่จะพิจารณาให้รู้ได้  และสภาพที่ได้ยินเสียงนั้น ก็เกิดรู้เสียงที่กำลังปรากฏแล้วดับไปทันที  จิตซึ่งเป็นสภาพรู้นั้น  เกิดขึ้นแล้วดับไปรวดเร็วมาก  เมื่อเข้าใจถูกว่า จิตกำลังเห็นจิตกำลังได้ยิน  จิตกำลังได้กลิ่น  จิตกำลังลิ้มรส  จิตกำลังคิดนึก เป็นต้น  สติปัฏฐานก็ย่อมเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้  เป็นธาตุรู้ในขณะนั้น ๆ ได้

ฉะนั้น  การอบรมเจริญปัญญาจึงสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงกับพระธรรม  ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจนประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรม  ดับกิเลสได้ เป็นพระอริยบุคคล คือ พระโสดาบัน  พระสกทาคามี  พระอนาคามี  พระอรหันต์ ตามลำดับ

                                                 
                                                       ....................................................

Friday, February 1, 2013

ลักษณะของจิต (ตอนที่ ๑)



ในขุททกนิกาย มหานิทเทส ปสูรสูตตนิทเทสที่ ๘  ข้อ ๓๑๙ มีข้อความว่า  ชื่อว่า  "ใจ (มโน)"  คิดทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ  ความว่า  ใจ  คือ  จิต  มโน  มานัส  หทัย  ปัณฑระ  มนะ  มนายตนะ  มนินทรีย์ วิญญาณ  วิญญาณขันธ์  มโนวิญญาณธาตุที่เกิดแต่ผัสสะ  เป็นต้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใช้พยัญชนะหลายคำ  เพื่่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของจิตซึ่งทุกคนมี   จิตเป็นสภาพรู้  เป็นอาการรู้  เป็นนามรู้  เป็นนามธรรม จึงรู้ได้ยากว่า  ลักษณะที่เป็นเพียงธาตุรู้นั้นเป็นอย่างไร   ทั้ง ๆ  ที่ทุกคนก็คงจะเข้าใจความหมายบางประการของจิตที่ว่า  "ใจ"  ทั้ง ๆ ที่ทุกคนมี  แต่ไม่รู้ว่ามี  ถ้าไม่พิจารณาก็จะไม่รู้ว่า เมื่อไรและขณะไหนเป็นจิต

ในอัฎฐสาลินี  อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์  จิตตุปปาทกัณฑ์  อธิบายจิตตนิทเทส  มีข้อความว่า  ธรรมชาติที่ชื่อว่า  จิต  เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตร

ธาตุรู้หรือนามรู้ มีมากมายไม่ใช่อย่างเดียว  จิตเป็นธรรมชาติที่วิจิตร  ความวิจิตรของจิตปรากฏเมื่อคิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ  ซึ่งไม่ว่าใครจะทำอะไรในวันหนึ่ง ๆ นั้น  เมื่อพิจารณาแล้วย่อมรู้ว่าเป็นไปตามความวิจิตรของจิตทั้งสิ้น

จะเห็นได้ว่า ชีวิตประจำวันในวันหนึ่ง ๆ  ทุกคนมีนึกคิดแตกต่างกันไปตามความวิจิตรของจิต  ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการกระทำทั้งทางกาย  ทางวาจาต่าง ๆ  แต่ละคนก็คิดแตกต่างกันไป  ผู้ที่สนใจทางธรรมก็พิจารณาธรรมต่าง ๆ กัน  ความคิดเห็นในขั้นของการประพฤติปฏิบัติธรรมก็ต่างกัน  แม้แต่ในเรื่องของโลก  ความเป็นไปในกลุ่มบุคคลแต่ละกลุ่ม  แต่ละประเทศ  ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็เป็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ของโลก  แต่ละขณะย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามความวิจิตรของความคิดของแต่ละบุคคล  โลกยุคนี้เป็นอย่างนี้  ตามความคิดของแต่ละบุคคลในยุคนี้สมัยนี้  แล้วต่อไปโลกจะเป็นอย่างไร  ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามจิตซึ่งคิดวิจิตรต่าง ๆ  นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้  จึงเห็นได้ว่า  จิตเป็นธรรมชาติที่วิจิตร  จิตที่เห็นทางตาเป็นจิตประเภทหนึ่ง  ต่างกับจิตที่ได้ยินทางหู  ซึ่งเป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง  และต่างกับจิตที่คิดนึก เป็นต้น


                                  ขออนุโมทนาในกุศลจิตและขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                               .........................................