Tuesday, June 25, 2013

ลักษณะของจิต (ตอนที่ ๔)


ไม่มีใครชอบขณะที่จิตขุ่นเคือง  กระวนกระวาย  กระสับกระส่าย  เศร้าโศก เดือดร้อน หงุดหงิด รำคาญใจ  แต่ชอบความสุขสนุกสนานเพลิดเพลิน  ซึ่งขณะที่สนุกสนานรื่นเริงนั้น  จิตเป็นอกุศล  เพราะเกิดร่วมกับโลภเจตสิก  ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง  ปรารถนาพอใจ  เพลิดเพลินในอารมณ์  การศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น  เพื่อให้สติปัฎฐาน (คือสติที่) ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฎและอบรมเจริญปัญญา โดยศึกษา คือ พิจารณาสังเกตจนรู้ชัดสภาพธรรมนั้น  ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า  สภาพธรรมใดเป็นกุศล  สภาพธรรมใดเป็นอกุศล  และสภาพธรรมใดไม่ใช่กุศล  ไม่ใช่อกุศล  ไม่ว่าอกุศลธรรมใด ๆ ขั้นหยาบหรือละเอียดก็เป็นอกุศลธรรมทั้งสิ้น ไม่ใช่เป็นอกุศลธรรมเฉพาะขณะที่โทสะเกิดเท่านั้น

บางท่านถามว่า  ทำอย่างไรจึงจะไม่โกรธ

สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา  โทสะก็เป็นอนัตตา  โทสะเกิดขึ้นเพราะเหตุเป็นปัจจัย  ผู้ดับความโกรธได้เป็นสมุจเฉท  โทสเจตสิกไม่เกิดอีกเลยนั้น  เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรม  ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีบุคคล

การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระอริยบุคคลมี ๔ ขั้น

ผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม  ประจักษ์แจ้งสภาพพระนิพพานครั้งแรกเป็นพระโสดาบันบุคคล  ดับความเห็นผิดและความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลาย  เมื่อพระโสดาบันบุคคลเจริญปัญญาขึ้น  รู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งนิพพานอีกครั้งหนึ่ง  ดับความพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น   รส  โผฏฐัพพะ  อย่างหยาบเป็นสกทาคามีบุคคล  เมื่อพระสกทาคามีบุคคลเจริญปัญญาขึ้น  รู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งนิพพานอีกครั้งหนึ่ง  ดับความยินดีพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฎฐัพพะ  จึงดับโทสะเป็นพระอนาคามีบุคคล  เมื่อพระอนาคามีบุคคลเจริญปัญญาขึ้น  รู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งนิพพานอีกครั้งหนึ่ง  ดับอกุศลธรรมที่เหลืออยู่ทั้งหมด  เป็นพระอรหันต์  เมื่อพระอรหันต์ดับขันธปรินิพพานแล้ว  ไม่เกิดอีกต่อไป.

----------------------------
อริยสัจจธรรม ๔ คือ

ทุกขอริยสัจจ์  สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง  เกิดขึ้นแล้วดับไป จึงเป็นสภาพที่เป็นทุกข์  คือ ไม่ควรที่ตะติดข้องเพลิดเพลิน

ทุกขสมุทยอริยสัจจ์  ตัณหา คือ  โลภะ  การพอใจติดข้อง เป็นสมุทัย  คือ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ทุกขนิโรธอริยสัจจ์  พระนิพพาน  เป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์  เพราะดับกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์


ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์  อริยมัคค์มีองค์ ๘ คือ  การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการอบรมเจริญปัญญา  ให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม  เป็นทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์

--------------------------

ตัดลอกจากหนังสือ  ปรมัตถธรรมสังเขป  จิตตสังเขป และภาคผนวก
โดย  อาจารย์สุจินต์  บริหารวนเขตต์

Thursday, June 20, 2013

ลักษณะของจิต (ตอนที่ ๓)


ที่ (จิต) ชื่อว่า  "ปัณฑระ"  เพราะความหมายว่า  บริสุทธิ์  เพราะจิตมีลักษณะรู้แจ้งอารมณ์อย่างเดียว  โดยสภาวะจึงเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์  ข้อความในสัทธัมมปกาสินี  อรรถกถา ขุททกนิกาย  ปฏิสัมภิทามรรค  อานาปานกถา  มีว่า  จิตนั้นชื่อว่า  ปณฺฑรํ  ขาว  เพราะอรรถว่า  บริสุทธิ์  ท่านกล่าวหมายเอาภวังคจิต  ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า เพ  ดูก่อน  ภิกษุทั้งหลาย  จิตนี้ประภัสสร  แต่จิตนั้นเศร้าหมอง เพราะอุปกิเลสทั้งหลายที่จรม

อนึ่ง แม้จิตอกุศล  ท่านก็กล่าวว่า  ปัณฑระเหมือนกัน เพราะอกุศลออกจากจิตนั้นแล้ว  ดุจแม่น้ำคงคาไหลออกจากแม่น้ำคงคา  และดุจแม่น้ำโคธาวรีไหลออกจากแม่น้ำโคธาวรี  อนึ่ง  เพราะจิตมีลักษะรู้แจ้งอารมณ์  จึงไม่เป็นกิเลสด้วยความเศร้าหมอง  โดยสภาวะเป็นจิตบริสุทธิ์ทีเดียว  แต่เมื่อประกอบด้วยกิเลสจึงเศร้าหมอง  แม้เพราะเหตุนั้น  จึงควรเพื่อจะกล่าวว่า  ปัณฑระ

จิต  เป็นสภาพที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทันที่  การดับไปของจิตดวง (ขณะ) ก่อนเป็นปัจจัยให้จิตดวง (ขณะ)ต่อไปเกิดขึ้น  จิตเห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป  จึงไม่มีจิตที่เห็นอยู่ตลอดเวลา  และไม่มีจิตที่ได้ยินอยู่ตลอดเวลา  ไม่มีจิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายอยู่ตลอดเวลา  และไม่มีจิตที่คิดนึกอยู่ตลอดเวลา

ในขณะที่นอนหลับสนิทไม่ฝัน  จิตก็เกิดดับรู้อารมณ์สืบต่อกันอยู่เรื่อย ๆ  แต่ไม่รู้อารมณ์ทางตา  หู  จมูก ลิ้น  กาย  ใจ  จิตใดที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  จิตนั้นเป็นภวังคจิต  คือ ดำรงรักษาภพชาติที่เป็นบุคคลนั้นสืบต่อไว้  จนกว่าจิตอื่นจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา  หรือทางหู  หรือทางจมูก  หรือทางลิ้น หรือทางกาย  หรือทางใจ สลับกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสิ้นสุดการเป็นบุคคลนั้น

ภวังคจิต  ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ขณะที่หลับสนิททุกคนไม่รู้สึกชอบ  ไม่รู้สึกชัง  ไม่ริษยา  ไม่ตระหนี่  ไม่สำคัญตน  ไม่เมตตา  ไม่กรุณา  เพราะไม่เห็น  ไม่ได้ยิน  ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส  ไม่คิดนึกใด ๆ  ทั้งสิ้น  แต่ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  จะรู้ได้ว่าอกุศลจิตเกิด  เพราะสะสมกิเลสต่าง ๆ  ไว้มาก  จึงทำให้เกิดความยินดีพอใจเมื่อเห็นสิ่งที่น่าพอใจ  และรู้สึกขุ่นเคือง  ไม่แช่มชื่นเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ

ขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกาย  ทางใจนั้น  รู้สึกอย่างไร  ความรู้สึกเฉย ๆ  ดีใจ เสียใจนั้น ไม่ใช่จิต  เป็นเจตสิกประเภทหนึ่งซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ  เรียกว่า  เวทนาเจตสิก  จิตเป็นนามธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์  แต่จิตไม่ใช่เวทนาเจตสิกซึ่งรู้สึกเฉย ๆ  หรือดีใจ  หรือเสียใจในอารมณ์ที่กำลังปรากฎ  สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น  จะเกิดตามลำพังไม่ได้  ต้องอาศัยสภาพธรรมอื่นเป็นปัจจัยเกิดขึ้นพร้อมกัน  จิตต้องเกิดร่วมกับเจตสิก  เจตสิกต้องเกิดร่วมกับจิต  จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันนั้นดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และเกิดดับที่เดียวกัน  จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้น มีเจตสิกเป็นปัจจัยเกิดร่วมด้วยต่าง ๆ กัน  และกระทำกิจต่าง ๆ กัน  ฉะนั้น  จิตจึงต่างกันหลายประเภท.