Tuesday, August 27, 2013

ปัจจัย (ตอนที่ ๑)


ปัจจัย  คือ  ธรรมซึ่งอุปการะอุดหนุนให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นหรือดำรงอยู่
แสดงว่าสภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม  เพราะอาศัยธรรมอื่นเป็น
ปัจจัยจึงเกิดขึ้น  ถ้าปราศจากปัจจัย  สภาพธรรมทั้งหลายก็เกิดไม่ได้  และสภาพ
ธรรมซึ่งเป็นสหชาตปัจจัยนั้น  ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นพร้อมกับตน
(สห  แปลว่า  ร่วมกัน พร้อมกัน...ชาต แปลว่า  เกิด)  แต่สภาพธรรมบางอย่างก็
เป็นปัจจัยโดยเกิดก่อนสภาพธรรมที่ตนเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น  สภาพธรรมบางอย่าง
ก็เป็นปัจจัยโดยเกิดภายหลัง

ฉะนั้น  จิตจึงเป็นสหชาตปัจจัยแก่เจตสิกที่เกิดพร้อมกับจิตนั้น  และเจตสิกก็เป็น
สหชาตแก่จิตที่เกิดพร้อมกับเจตสิกนั้น  เมื่อผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบอารมณ์ใด
จิตที่เกิดพร้อมกับผัสสเจตสิกนั้น  ก็รู้อารมณ์ที่ผัสสเจตสิกนั้นกระทบ  ไม่ใช่ว่า
ผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์หนึ่ง  แล้วจิตที่เกิดพร้อมกับผัสสเจตสิกนั้นไปรู้อีก
อารมณ์หนึ่ง  ขณะใดที่ผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบเสียงใด  โสตวิญญาณที่เกิด
พร้อมกับผัสสเจตสิกที่กระทบเสียงนั้น  ก็มีเสียงนั้นเป็นอารมณ์

ปรมัตถธรรมมี  ๔  คือ  จิต  เจตสิก  รูป  นิพพาน  ปรมัตถธรรม
แต่ละอย่าง  เป็นปัจจัยให้ปรมัตถธรรมอื่นที่เป็นสังขตธรรมเกิดขึ้น  คือ  จิตเป็น
ปัจจัยให้เกิดเจตสิกและเป็นปัจจัยให้เกิดรูป  (เว้นบางขณะ)  เจตสิกเป็นปัจจัย
ให้เกิดจิต  และเป็นปัจจัยให้เกิดรูป  (เว้นบางขณะ)  รูปเป็นปัจจัยให้เกิดรูป
และเป็นปัจจัยให้เกิดจิตขณะที่รูปเป็นวัตถุ  คือ  เป็นที่เกิดของจิต  และขณะที่
รูปเป็นอารมณ์ของจิต  ตามควรแก่สภาพปรมัตถธรรมนั้นโดยปัจจัยต่าง ๆ  กัน
เช่น  สหชาตปัจจัย  เป็นต้น


................................