Friday, September 26, 2014

จิต (๑)


คำอธิบายคำว่า  "จิต"  ในอัฏฐสาลินี  จิตตุปปาทกัณฑ์มีต่อไปนี้ว่า

คำว่า  "จิตฺตํ"    ที่ชื่อว่า  "จิต"  เพราะอรรถว่า  คิด  อธิบายว่า  รู้แจ้งอารมณ์  อีกอย่างหนึ่งเพราะเหตุที่ศัพท์ว่า  "จิตฺตํ"  นี้  ทั่วไปแก่จิตทุกดวง  ฉะนั้น  คำว่า  "จิตฺตํ"  นี้โลกิยกุศลจิต  อกุศลจิตและมหากิริยาจิต  จึงชื่อว่า  "จิต"  เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี  ชื่อว่า  "จิต"  เพราะธรรมชาติอันกรรม  กิเลส  สั่งสมวิบาก  อนึ่งแม้จิตทุกดวงชื่อว่า  "จิต"  เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร  ชื่อว่า  "จิต"  เพราะกระทำให้วิจิตร

ถ้าศึกษาจากตำรารุ่นหลังๆ  ที่มีผู้รวบรวมไว้ก็จะทราบว่า  อรรถของจิต ๖ ประเภท  ที่กล่าวไว้ในตำรารุ่นหลังๆ  นั้นมาจากข้อความในอัฏฐสาลินี  อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์  ซึ่งอธิบายคำว่า  "จิต"  ที่สามารถจะแยกออกได้เป็นข้อ ๆ  คือ

ชื่อว่า  "จิต"  เพราะอรรถว่า  คิด  อธิบายว่า  เพราะรู้แจ้งอารมณ์ ๑

ชื่อว่า  "จิต"  เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี ๑

ชื่อว่า  "จิต"  เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม  กิเลส  สั่งสมวิบาก ๑

ชื่อว่า  "จิต"  เพราะธรรมชาติวิจิตรตามสมควร ๑  (ข้นี้  ส่วนมากในตำรารุ่นหลังแยกเป็น ๒  คือ  เพราะวิจิตรด้วยอารมณ์ ๑  และเพราะวิจิตรด้วยสัมปยุตธรรม ๑)

ชื่อว่า  "จิต"  เพราะกระทำให้วิจืตร ๑

ซึ่งก็จะขอกล่าวถึงตามลำดับ  เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของจิตตามที่กล่าวไว้ในอัฏฐสาลินี

ที่ชื่อว่า  "จิต"  เพราะอรรถว่า  "คิด"  อธิบายว่า  รู้แจ้งอารมณ์ทุกท่านคิดเสมอ  ถ้าสังเกตพิจารณาความคิด  ก็จะเห็นได้ว่าช่างคิดเสียจริง  และคิดไปต่าง ๆ  นานา  ไม่มีทางยุติความคิดได้เลย  จนกระทั่งบางท่านไม่อยากจะคิด  อยากจะสงบ ๆ  คือ  หยุดไม่คิด  เพราะเห็นว่าเมื่อคิดแล้วก็เดือดร้อนใจ  เป็นห่วง  วิตกกังวลกระสับกระส่าย  ด้วยโลภะบ้าง  หรือด้วยโทสะบ้าง  และเข้าใจว่า  ถ้าไม่คิดเสียได้ก็จะดี  แต่ให้ทราบว่า  จิตนั่นเองเป็นสภาพธรรมที่คิด  รูปธรรมคิดไม่ได้  เมื่อพิจารณาเรื่องที่จิตคิด  ก็จะรู้ได้ว่า  เพราะเหตุใดจิตจึงคิดเรื่องนั้น ๆ  ซึ่งบางครั้งไม่น่าจะคิดอย่างนั้นเลย  ตามปกติจิตย่อมเกิดขึ้นคิดไปในเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง  ทางหูบ้าง  ทางจมูกบ้าง  ทางลิ้นบ้าง  ทางกายบ้าง  ทางใจบ้างอยู่เรื่อย ๆ  จนเห็นว่าเป็นเรื่องราวจริงจัง  แต่ที่เห็นว่าเป็นเรื่องราวจริงจังทั้งหมดนั้น  ก็เป็นเพียงเพราะจิตเกิดขึ้นคิดเรื่องนั้นแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง  ซึ่งถ้าเพียงจิตไม่คิดถึงเรื่องนั้นเท่านั้น  เรื่องนั้นก็จะไม่มี

ข้อความในอัฏฐสาลินีว่า  ที่ชื่อว่า  "จิต"  เพราะอรรถว่า  คิด  อธิบายว่า  รู้แจ้งอารมณ์

สภาพ  "รู้"  มีลักษณะต่างกันตามประเภทของสภาพธรรมนั้น ๆ  เช่น  เจตสิก  ก็เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์แต่ไม่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์  เจตสิกแต่ละประเภทเกิดขึ้นพร้อมกับจิต  รู้อารมณ์เดียวกับจิต  แต่ว่ากระทำกิจเฉพาะของเจตสิกนั้น ๆ  เช่น  ผัสสเจตสิกเกิดร่วมกับจิต  พร้อมกับจิต  แต่ผัสสเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์  โดยกระทบอารมณ์  ซึ่งถ้าผัสสเจตสิกไม่รู้อารมณ์ก็ย่อมไม่กระทบอารมณ์  ฉะนั้น  ผัสสเจตสิกจึงรู้อารมณ์เพียงโดยกระทบอารมณ์  แต่ไม่ใช่รู้แจ้งอารมณ์  ปัญญาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่รู้ธรรมเห็นธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง  เช่น  รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน  สัตว์  บุคคล  ของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกาย  ทางใจ  แต่จิตซึ่งเป็นสภาพรู้นั้น  มีคำอธิบายว่า  รู้แจ้งอารมณ์  จึงไม่ใช่การรู้อย่างผัสสะที่กระทบอารมณ์  ไม่ใช่การรู้อย่างสัญญาที่จำหมายลักษณะของอารมณ์  ไม่ใช่การรู้อย่างปัญญา  แต่จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะต่าง ๆ  ของอารมณ์ที่ปรากฏ  สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ต่างกันไหม  สภาพธรรมเป็นสัจจธรรม  เป็นสิ่งซึ่งพิสูจน์ได้  ขณะนี้เห็นสิ่งเดียว  สีเดียวหมด  หรือเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสีต่าง ๆ  อย่างละเอียดจนทำให้รู้ความต่างกันได้ว่า  สิ่งที่เห็นนั้นเป็นเพชรแท้  หรือเพชรเทียมเป็นต้น


.............................


จาก   หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป  จิจจสังเขป  และภาคผนวก
โดย   สุจินต์  บริหารวนเขตต์

Tuesday, September 23, 2014

สงเคราะห์ปรมัตถธรรม ๔


จิต  เจตสิก  รูป  นิพพาน  เป็นปรมัตถธรรม  เป็นสภาพธรรมที่มีจริง  เพราะว่า  จิต  เจตสิก  รูป  เกิดดับสืบต่อกัน  จึงปรากฏให้รูปได้  เช่น  ขณะที่เห็นรูป  ได้ยินเสียง  และคิดนึก  เป็นต้น  จิตเกิดดับสืบต่อกันทำกิจการงานต่าง ๆ  เช่น  จิตบางดวงเห็นสี  บางดวงได้ยินเสียง  และบางดวงคิดนึก  เป็นต้น  ทั้งนี้ตามประเภทของจิตและเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตนั้น ๆ  การเกิดดับสืบต่อกันของจิต  เจตสิก  รูปนั้น  เป็นไปอย่างรวดเร็วมากจนทำให้ไม่เห็นการเกิดดับ  ทำให้เข้าใจว่ารูปค่อย ๆ  เปลี่ยนแปลงไป  และทำให้เข้าใจว่าจิตนั้นเกิดเมื่อคนหรือสัตว์เกิด  จิตนั้นดับเมื่อคนหรือสัตว์ตาย  ถ้าไม่ศึกษาไม่พิจารณา  และไม่อบรมเจริญสติและปัญญาให้รู้ลักษณะของจิต  เจตสิก  รูป  ที่กำลังปรากฏ  ก็จะไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม  คือ  จิต  เจตสิก  รูป  ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลา

สภาพธรรมใดเกิดขึ้น  สภาพธรรมนั้นต้องมีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น  เมื่อไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด  ท่าน
พระสารีบุตรเกิดความเลื่อมใสในคำสอนของพระผู้มีพระภาค  ก็เพราะได้เห็นท่านพระอัสสชิ  ซึ่งเป็นภิกษุรูปหนึ่งในภิกษุปัญจวัคคีย์  ท่านพระสารีบุตรเห็นท่านพระอัสสชิมีความน่าเลื่อมใสเป็นอันมาก  จึงได้ตามท่านพระอัสสชิไป  และถามท่านพระอัสสชิว่า  ใครเป็นศาสดาและศาสดาของท่านสอนว่าอย่างไร  ท่านพระอัสสชิตอบว่า

เย   ธมฺมา   เหตุปฺปภวา            เตสํ   เหตํุ   ตถาคโต   (อาห)

เตสญฺจ   โย   นิโรโธ                  เอวํวาที   มหาสมโณติฯ

ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ  พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น  และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น  พระมหาสมณะทรงสั่งสอนอย่างนี้

ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้พร้อมทั้งเหตุปัจจัยของธรรมนั้น ๆ  ก็จะไม่มีผู้ใดรู้ว่าธรรมใดเกิดจากเหตุปัจจัยใด  ไม่มีผู้ใดรุ้ว่าจิตปรมัตถ์  เจตสิกปรมัตถ์  รูปปรมัตถ์  แต่ละประเภทนั้นเกิดขึ้นเพราะมีธรรมใดเป็นปัจจัย  พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวง  พระองค์จึงได้ทรงแสดงว่าธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดจึงเกิดขึ้น  และทรงแสดงเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดธรรมนั้น ๆ  ธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นโดยไม่มีปัจจัยไม่ได้

ที่กล่าวว่า  คนเกิด  สัตว์เกิด  เทวดาเกิด  เป็นต้นนั้น  คือ  จิต  เจตสิก  รูป  เกิดนั่นเอง  เมื่อจิต  เจตสิก  ประเภทหนึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับรูปก็บัญญัติว่าคนเกิด  เมื่อจิต  เจตสิก  เกิดขึ้นพร้อมกับรูปของเทวดาก็บัญญัติว่าเทวดาเกิด  เป็นต้น  การเกิดของคน  สัตว์  เทวดา  เป็นต้นนั้น  ต่างกันเพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดนั้นต่างกัน  เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดนั้นมีมาก  และสลับซับซ้อนมาก  แต่ด้วยพระสัพพัญญุตญาณของพระผู้มีพระภาคผู้ทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวง  พร้อมทั้งเหตุปัจจัยของธรรมทั้งปวงนั้น  พระองค์จึงได้ทรงแสดงธรรมตามสภาพความจริงของธรรมแต่ละประเภทว่า  ธรรมใดเกิดขึ้น  ธรรมนั้นมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น  ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม

ที่รู้ได้ว่ามีจิต  เจตสิก  รูป  เพราะว่า  จิต  เจตสิก  รูปเกิดขึ้นและที่จิต  เจตสิก  รูปเกิดขึ้นนั้นก็เพราะว่ามีปัจจัย  จิต  เจตสิกและรูปเป็นสังขารธรรม  

พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคนั้น  สมบูรณ์  พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ  ธรรมข้อใดที่อาจจะมีผู้เข้าใจผิดได้  พระองค์ก็ทรงบัญญัติคำกำกับให้ชัดเจนยิ่งขึ้น  เพื่อไม่ให้ผู้ใดเข้าใจความหมายของธรรมข้อนั้นผิด  เมื่อพระองค์ทรงบัญญัติว่า  ธรรมที่เกิดขึ้นมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นเป็น  สังขารธรรม  เพื่อไม่ให้ผู้ใดเข้าใจผิดว่า  ธรรมที่เกิดขึ้นนั้น  เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่ตลอดไปเรื่อย ๆ  พระองค์จึงทรงบัญญัติว่าธรรมที่เป็นสังขารธรรม  (ธรรมที่มีสภาพปรุงแต่ง)  นั้นเป็นสังขตธรรม  (ธรรมที่ปรุงแต่งแล้ว)

สังขตธรรม  คือ  ธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป  พระองค์ทรงบัญญัติคำว่า  สังขตธรรม  กับคำว่า  สังขารธรรม  เพื่อให้รู้ว่าธรรมใดที่เกิดขึ้น  ธรรมนั้นมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น  เมื่อมีปัจจัยดับ  ธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยนั้นก็ต้องดับไป  ฉะนั้น  จิตปรมัตถ์  เจตสิกปรมัตถ์  รูปปรมัตถ์  เป็นสังขารธรรม  เป็นสังขตธรรม

สพฺเพ   สงฺขารา   อนิจฺจา ฯ       สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง

สพฺเพ   สงฺขารา   ทุกขา ฯ        สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์

สพฺเพ   ธมฺมา       อนตฺตา ฯ      ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา"



.....................................


จาก  หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป  จิตตสังเขปและภาคผนวก
โดย  สุจินต์  บริหารวนเขตต์


Thursday, September 18, 2014

รูปปรมัตถ์ (๕)


เสียงหรือสัททรูป  ไม่ใช่วจีวิญญัติรูป  เสียงเป็นรูปที่กระทบกับโสตปสาทรูป  เป็นปัจจัยให้เกิดโสตวิญญาณ  เสียงบางเสียงก็เกิดจากจิต  และบางเสียงก็ไม่ได้เกิดจากจิต  เช่น  เสียงฟ้าร้อง  เสียงลมพายุ  เสียงเครื่องยนต์  เสียงกลอง  เสียงวิทยุ  เสียงโทรทัศน์  เป็นต้น

รวมอวินิพโภครูป  ๘  +  ลักขณรูป  ๔  +  ปริจเฉทรูป ๑ +  ปสาทรูป  ๕  +  หทยรูป  ๑ +  ชีวิตินทริยรูป ๑  +  ภาวรูป  ๒  +  วิการรูป  ๓  +  วิญญัติรูป  ๒  +  สัททรูป  ๑  เป็น  ๒๘  รูป

ในบางแห่งแสดงจำนวนของรูปต่ากัน  เช่น  ในอัฎฐสาลินีรูปกัณฑ์  ปกิณณกกถา  แสดงรูป  ๒๕  คือ  รวมธาตุดิน  ไฟ  ลม  เป็นโผฆฐัพพายตนะ  (รูปที่กระทบกายปสาท)  ๑  รูป  รวมกับหทยรูปอีก  ๑  รูป  จึงเป็นรูป  ๒๖ รูป

เมื่อรูป  ๆ  หนึ่งเกิดขึ้นจะเกิดพร้อมกับรูปอีกกี่รูป  รวมกันเป็นกลาปหนึ่ง ๆ  นั้น  ย่อมต่างกันไปตามประเภทของรูปนั้น ๆ  และการจำแนกรูป  ๒๘  รูปมีหลายนัย  ซึ่งจะกล่าวถึงพอสมควรในภาคผนวก


......................

Friday, September 12, 2014

รูปปรมัตถ์ (๔)


การที่รูปของสัตว์ บุคคลทั้งหลายเคลื่อนไหวได้  ก็เพราะว่ามีจิต  จะต้องมีรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฎฐานด้วย  เพราะถ้ามีเพียงรูปที่เกิดจากกรรมเท่านั้น  ก็จะเคลื่อนไหวไปมาหรือทำกิจการงานใด ๆ  ไม่ได้เลย  การที่รูปร่างกายเคลื่อนไหวทำกิจต่าง ๆ  ได้ก็จะต้องมีวิการรูป  ๓  รูป  คือ

ลหุตารูป  เป็นภาวะที่เบา  ไม่หนักของรูป  อุปมาเหมือนอาการของคนไม่มีโรค

มุทุตารูป  เป็นภาวะที่อ่อน  ไม่กระด้างของรูป  อุปมาเหมือนหนังที่ขยำไว้ดีแล้ว

กัมมัญญตารูป  เป็นภาวะที่ควรแก่การงานของรูป  อุปมาเหมือนทองคำที่หลอมไว้ดีแล้ว

วิการรูป  ๓  รูปนี้เป็นอสภาวรูป  เป็นรูปที่ไม่มีสภาวะต่างหากเฉพาะของตน  เป็นอาการวิการของมหาภูตรูป  คือ  เบา  อ่อนและควรแก่การงาน

วิการรูป  ๓  เป็นรูปที่เกิดภายในสัตว์บุคคลเท่านั้น  ส่วนรูปที่ไม่มีใจครองจะไม่มีวิการรูป  ๓  เลย  และวิการรูป  ๓  นี้ไม่แยกกันเลย

ในกลาปใดมีลหุตารูป  กลาปนั้นก็มีมุทุตารูป  และกัมมัญญุตารูปด้วย  นอกจากนั้น  เมื่อจิตต้องการเคลื่อนไหวส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย  ร่างกายส่วนนั้นจะต้องมีวิการรูปที่เกิดจากอุตุ  (ความสม่ำเสมอของธาตุเย็นร้อน) เป็นสมุฏฐาน  และมีวิการรูปที่เกิดจากอาหาร (โอชารูป)  เป็นสมุฏฐานด้วย  มิฉะนั้นแล้ว  แม้จิตต้องการจะเคลื่อนไหว  รูปก็เคลื่อนไหวไม่ได้  เช่น  ผู้ที่เป็นอัมพาตหรือเคล็ดขัดยอก  กระปลกกระเปลี้ย  เป็นต้น

รวมอวินิพโภครูป  ๘ +  ลักขณรูป  ๔  +  ปริจเฉทรูป ๑  +  ปสาทรูป  ๕  +  หทยรูป  ๑  +  ชีวิตตินทริยรูป  ๑  +  ภาวรูป  ๒  +  วิการรูป  ๓  เป็น  ๒๕  รูป

รูปที่มีใจครองนั้น  เมื่อจิตต้องการให้รูปเป็นไปตามความประสงค์ของจิตขณะใด  ขณะนั้นจิตเป็นสมุฏฐานให้  กายวิญญัติรูป  คือ  อาการพิเศษที่มีความหมาย  หรือมีอาการเป็นไปของรูปตามที่จิตรู้ในอาการนั้นทางตา  หรือทางหน้า  หรือท่าทาง  เช่น  ถลึงตา  ยิ้มเยาะ  เหยียดหยาม  หรือห้ามปราม  เป็นต้น  เมื่อจิตไม่ต้องการให้รูปแสดงความหมาย  หรือมีอาการเจาะจงเป็นไปตามความประสงค์ของจิต  กายวิญญัติรูปก็ไม่เกิด

ขณะใดที่จิตเป็นปัจจัยให้เกิดเสียงทางวาจา  ซึ่งเป็นการพูดการเปล่งเสียงให้รู้ความหมาย  ขณะนั้นจิตเป็นสมุฏฐาน  คือ  เป็นปัจจัยให้วจีวิญญัติรูปเกิดขึ้น  กระทบฐานที่เกิดของเสียงต่าง ๆ  เช่น  ริมฝีปาก  เป็นต้น  ถ้าวจีวิญญัติรูปไม่เกิด  การพูด  หรือการเปล่งเสียงต่าง ๆ  ก็มีไม่ได้

กายวิญญัติรูปและวจีวิญญัติรูปเป็นอสภาวรูปที่เกิดและดับพร้อมกับจิต

รวมอวินิพโภครูป  ๘  +  ลักขณรูป  ๔  +  ปริจเฉทรูป  ๑  +  ปสาทรูป  ๕  +  หทยรูป  ๑  +  ชีวิตินทริยรูป  ๑  +  ภาวรูป  ๒  +  วิการรูป  ๓  +  วิญญัติรูป  ๒  เป็น  ๒๗  รูป



............................




จากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป
จิตตสังเขปและภาคผนวก

โดย  สุจินต์  บริหารวนเขตต์



Wednesday, September 3, 2014

รูปปรมัตถ์ (๓)

รูปที่มีใจครอง  คือ  มีจิตเกิดกับรูปนั้น  ในภูมิที่มีขันธ์ ๕  จิตทุกขณะต้องเกิดที่รูปตามประเทภของจิตนั้น ๆ  เช่น  จักขุวิญญาณทำกิจเห็น  เกิดที่จักขุปสาทรูป  โสตวิญญาณทำกิจได้ยิน  เกิดที่โสตปสาทรูป  ฆานวิญญาณทำกิจรู้กลิ่น  เกิดที่ฆานปสาทรูป  ชิวหาวิญญาณทำกิจลิ้มรส  เกิดที่ชิวหาปสาทรูป  กายวิญญาณทำกิจรู้เย็น  ร้อน  อ่อน  แข็ง  ไหว  ตึง  (ธาตุดิน ไฟ  ลม)  เกิดที่กายปสาทรูป

ส่วนจิตอื่น ๆ  ในภูมิที่มีขันธ์ ๕  นอกจากที่กล่าวแล้วนี้  จิตเกิดที่รูป  ๆ  หนึ่ง  เรียกว่า  หทยรูป  เพราะเป็นรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต  ฉะนั้น  วัตถุรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตจึงมี  ๖  รูป

รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔  +  ปริจเฉทรูป ๑  +  ปสาทรูป ๕  +  หทยรูป ๑  เป็น  ๑๙  รูป

รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานทุก ๆ  กลาป  จะต้องมีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วยทุกกลาป  ชีวิตินทริยรูปรักษารูปที่เกิดร่วมกันในกลาปหนึ่ง ๆ  ให้เป็นรูปที่ดำรงชีวิต  ฉะนั้น  รูปของสัตว์  บุคคลที่ดำรงชีวิตจึงต่างกับรูปทั้งหลายที่ไม่มีใจครอง

รวมอวินิพโภครูป  ๘  +  ลักขณรูป ๔  +  ปริจเฉทรูป ๑  +  ปสาทรูป ๕  +  หทยรูป ๑  +  ชีวิตินทริยรูป ๑  เป็น  ๒๐  รูป

การที่สัตว์  บุคคลทั้งหลายโดยทั่วไปต่างกันเป็นหญิงและชายนั้น  เพราะภาวะรูป  ๒  คือ

     อิตถีภาวรูป  เป็นรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วกาย  ทำให้ปรากฏเป็นทรวดทรง  สัณฐาน  อาการ  กิริยา  ท่าทางของเพศชาย

     ปุริสภาวรูป  เป็นรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วกาย  ทำให้ปรากฏเป็นทรวดทรง  สัณฐาน  อาการ  กิริยา  ท่าทางของเพศชาย

ในแต่ละบุคคลจะมีภาวรูปหนึ่งภาวรูปใด  คือ  อิตถีภาวรูป  หรือปุริสภาวรูปเพียงรูปเดียวเท่านั้น  และบางบุคคลก็ไม่มีภาวรูปเลย  เช่น  พรหมบุคคลในพรหมโลก  และผู้ที่เป็นกระเทย

รวมอวินิพโภครูป ๘  +  ลักขณรูป ๔  +  ปริจเฉทรูป ๑  +  ปสาทรูป ๕  +  หทยรูป ๑  +  ชีวิตินทริยรูป ๑  +  ภาวรูป ๒  เป็น ๒๒  รูป


..........................