Wednesday, October 22, 2014

จิต (๔)


ข้อความในอัฏฐสาลินีที่ว่า  แม้เพราะความหมายว่า (จิต) เป็นเหตุ  คือ  เพราะจิตเป็นเหตุแห่งผัสสะ  เป็นต้น

ผัสสะเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งใน  ๕๒  ประเภท  ผัสสเจตสิกเป็นนามธรรมที่กระทบอารมณ์  ขณะที่รูปกระทบกับรูป  เช่น  ต้นไม้ล้มกระทบพื้นดิน  การกระทบกันของต้นไม้และพื้นดินไม่ใช่ผัสสเจตสิก  ขณะที่เสียงกระทบกับโสตปสาท  โสตปสาทเป็นรูป  เสียงเป็นรูป  ถ้าผัสสเจตสิกไม่เกิดขึ้นกระทบเสียงที่กะทบโสตปสาท  จิตได้ยินก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย

ผัสสเจตสิก  เป็นนามธรรมซึ่งเกิดพร้อมกับจิต  ดับพร้อมกับจิต  รู้อารมณ์เดียวกับจิต  และเกิดที่เดียวกับจิต  ฉะนั้น  จิตจึงเป็นเหตุแห่งผัสสะ  ในภูมิที่มีขันธ์ ๕  จิตและเจตสิกต้องเกิดที่รูปใดรูปหนึ่งเสมอ  รูปใดเป็นที่เกิดของจิตและเจตสิก  รูปนั้นเป็นวัตถุรูป  จักขุปสาทเป็นวัตถุรูป  เพราะเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณ  สภาพธรรมที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นโดยลำพังอย่างเดียวไม่ได้  แต่จะต้องมีสภาพธรรมอื่นเป็นปัจจัยเกิดร่วมด้วยพร้อมกันในขณะนั้น

สภาพธรรมใดเป็นปัจจัยใด้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นพร้อมกับตน  สภาพธรรมนั้นเป็นสหชาติปัจจัย

สห   แปลว่า  ร่วมกัน  พร้อมกัน

ชาต  แปลว่า  เกิด

ปัจจัย  คือ  ธรรมซึ่งอุปการะอุดหนุนให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นหรือดำรงอยู่  แสดงว่าสภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม  เพราะอาศัยธรรมอื่นเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้น  ถ้าปราศจากปัจจัย  สภาพธรรมทั้งหลายก็เกิดไม่ได้  และสภาพธรรมซึ่งเป็นสหชาตปัจจัยนั้น  ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นพร้อมกับตน  แต่สภาพธรรมบางอย่างก็เป็นปัจจัยโดยเกิดก่อนสภาพธรรมที่ตนเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น  สภาพธรรมบางอย่างก็เป็นปัจจัยโดยเกิดภายหลัง

ฉะนั้น  จิตจึงเป็นสหชาตปัจจัยแก่เจตสิกที่เกิดพร้อมกับจิตนั้น  และเจตสิกก็เป็นสหชาตปัจจัยแก่จิตที่เกิดพร้อมกับเจตสิกนั้น  เมื่อผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบอารมณ์ใด  จิตที่เกิดพร้อมกับผัสสเจตสิกนั้น  ก็รู้อารมณ์ที่ผัสสเจตสิกนั้นกระทบ  ไม่ใช่ว่าผัสสเจตสิกกระทยอรมณ์หนึ่งแล้วจิตที่เกิดพร้อมกับผัสสเจตสิกนั้นไปรู้อีกอารมณ์หนึ่ง  ขณะใดที่ผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบเสียงใด  โสตวิญญาณที่เกิดพร้อมกับผัสสเจตสิกที่กระทบเสียงนั้น  ก็มีเสียงนั้นเป็นอารมณ์


.....................................


จาก........หนังสือปรมัถธรรมสังเขป,  จิตตสังเขป  และภาคผนวก
โดย........สุจินต์  บริหารวนเขตต์

จิต (๓)


จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ  ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางจ  เมื่อผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์ใด  จิตก็เกิดพร้อมผัสสะนั้น  ก็ร฿้แจ้งลักษณะต่าง ๆ  ของอารมณ์นั้น
ฉะนั้น  แม้คำว่ารู้แจ้งอารมณ์ซึ่งเป็นลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้  ก็จะต้องเข้าใจว่า  "รู้แจ้งอารมณ์"
คือ  รู้ลักษณะต่าง ๆ  ของอารมณ์ต่าง ๆ  ที่ปรากฏ  ไม่ว่าจะเป็นทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกาย  ทางใจ  เมื่อจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์  อารมณ์จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตแต่ละประเภทเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น  ฉะนั้นอารมณ์จึงเป็นอารัมมณปัจจัย  คือ  เป็นปัจจัยให้จิตเกิดโดยเป็นอารมณ์ของจิต  จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นนั้นมีปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัย  แต่จิตจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้อารมณ์ไม่ได้  ฉะนั้น  อารมณ์จึงเป็นปัจจัยหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้จิตแต่ละขณะเกิดขึ้น

อีกประการหนึ่ง  เพราะเหตุที่ศัพท์ว่า  "จิตตํ"  เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถีนั้น  จะต้องเข้าใจเรื่องของจิตซึ่งเกิดดับ ๆ  สืบต่อกันอย่างรวดเร็วว่า  นามธรรมที่เกิดกับจิตแล้วดับไปแต่ละขณะนั้น  สะสมสืบต่อในจิตขณะหลัง ๆ  ที่เกิดดับสืบต่อมานั่นเอง

เมื่อจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู  เป็นต้น  ตามปกติจะไม่รู้ว่าขณะที่เห็นหรือได้ยินนั้นเป็นลักษณะของจิต  แต่มักจะรู้ว่าขณะใดจิตใจเป็นทุกข์  เศร้าหมอง  ขุ่นมัว  ขณะใดจิตใจสบาย  แจ่มใส  ขณะใดโกรธ  ขณะใดเมตตาสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น  ขณะใดเป็นมิตรไมตรีกับบุคคลอื่น  จิตแต่ละขณะที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วนั้น  ก็สั่งสมสันดานของตน  คือไม่ว่าจะเป็นโลกิยกุศล  อกุศล  แต่ละขณะที่เกิดขึ้นแล้วดับไปนั้น  เป็นปัจจัยสะสมสืบต่อในจิตดวง (ขณะ)  ต่อ ๆ  ไป
เพราะเมื่อจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป  การดับไปของจิตดวงก่อนเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อทันที  ฉะนั้น  จิตดวงที่เกิดต่อจึงมีสภาพธรรมซึ่งจิตดวงก่อนสะสมไว้แล้วสืบต่อไปในจิตดวงหลัง ๆ  ที่เกิดต่อ ๆ  ไปอีกเรื่อย ๆ

แต่ละท่านจะสังเกตได้ว่า  แต่ละบุคคลมีอัธยาศัยต่าง ๆ  กัน  มีอุปนิสัยต่าง ๆ  กัน  ตามการสะสมของจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน  บางท่านก็เป็นผู้ใจบุญใจกุศล  เพราะจิตที่เป็นบุญกุศลได้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป  แล้วจิตที่เกิดสืบต่อก็สะสมบุญกุศลนั้น ๆ  เป็นปัจจัยสืบต่อ ๆ  ไปข้างหน้า  อกุศลก็เช่นเดียวกัน  ไม่ว่าจะเป็นจิตประกอบด้วยโลภะ  โทสะ  หรือโมหะ  เมื่ออกุศลจิตประเภทนั้น ๆ  ดับไปแล้ว  ก็เป็นป้ัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อสภาพธรรมที่สะสมอยู่ในจิตดวงก่อนต่อไปอีก  การที่จิตดวงหลังเกิดต่อจากจิตดวงก่อนอยู่เรื่อย ๆ  นั้น  เพราะจุตทุกดวงเป็นอนันตรปัจจัย   คือ  เป็นปัจจัยทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อทันทีที่จิตดวงก่อนดับ

จิตทุกดวงเป็นอนันตรปัจจัย  ทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น  เว้นจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้น  ที่ไม่เป็นอนันตรปัจจัย  เมื่อจุติจิตของพระอรหันต์ดั  จึงเป็นปรินิพพาน  ไม่มีปฏิสนธิจิตหรือจิตใด ๆ  เกิดสืบต่ออีกเลย  ฉะนั้น  ปัจจัยที่กล่วถึงแล้วจึงมี  ๓  ปัจจัย  คือ  สหชาตปัจจัย  อารัมมณปัจจัย  และอนันตรปัจจัย


...............................


จาก...หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป,  จิตตสังเขป,  ภาคผนวก
โดย...สุจินต์  บริหารนวเขตต์

Thursday, October 9, 2014

จิต (๒)


จิตเป็นสภาพที่เห็นแจ้ง  คือ  รู้แจ้งลักษณะที่ละเอียดต่าง ๆ  ของอารมณ์ต่าง ๆ  อุปมาเหมือนกระจกเงาที่ใสสะอาด  ไม่ว่าสิ่งใดจะผ่านก็ย่อมปรากฏเงาในกระจกฉันนั้น  ขณะนี้จักขุปสาทเป็นรูปซึ่งมีลักษณะประดุจกระจกใสพิเศษ  สามารถกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา  โสตปสาทสามารถกระทบเฉพาะเสียง  ฆานปสาทสามารถกระทบเฉพาะกลิ่น  ชิวหาาปสาทสามารถกระทบเฉพาะรส  กายปสาทสามารถกระทบเฉพาะรูปที่กระทบกาย  ฉะนั้น  ไม่ว่าจะเป็นสีสันวัณณะอย่างใด ๆ  ก็ตาม จะเป็นสีเพชรแท้  เพชรเทียมหยก  หิน  หรือแม้สีแววตาที่ริษยา  ก็ปรากฏให้จิตเห็นได้ทั้งสิ้น  ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาปรากฏกับจิตที่รู้แจ้ง  ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นมีลักษณะอย่างไร  จิตก็รู้แจ้งในลักษณะที่ปรากฏนั้น ๆ  คือ  เห็นสีสันต่าง ๆ  ทั้งหมดของสิ่งต่าง ๆ  ที่ปรากฏจึงทำให้รู้ความหมาย  รู้รูปร่างสัณฐานและคิดนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาได้

เสียงที่ปรากฏทางหูเป็นเสียงเดียวกันทั้งหมด  หรือต่างกันเป็นแต่ละเสียงตามปัจจัยที่ทำให้เสียงนั้น ๆ  เกิดขึ้น  คนมีเท่าไร  เสียงของแต่ละบุคคลก็ต่างกันไปเท่านั้น  จิตรู้แจ้งเสียงที่ปรากฏต่าง ๆ  กัน  เสียงเยาะเย้ย  เสียงประชดถากถางดูหมิ่น  เสียงลมพัด  เสียงน้ำตก  เสียงสัตว์ร้อง  สัตว์นานาชนิดก็ร้องต่าง ๆ  กันหรือแม้คนที่เลียนเสียงสัตว์  จิตก็รู้แจ้งทางของลักษณะของที่ต่างกัน  จิตได้ยินเสียงรู้แจ้ง  คือ  ได้ยินเสียงทุกเสียงที่ต่างกัน

สภาพธรรมทุกอย่างปรากฏได้ก็เพราะจิตเกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์นั้น ๆ  ที่ปรากฏ  จิตที่รู้แจ้งทางจมูกเกิดขึ้นรู้แจ้งกลิ่นต่าง ๆ  ที่ปรากฏ  กลิ่นสัตว์ทุกชนิด  กลิ่นพืชพันธุ์ดอกไม้นานาชนิด  กลิ่นอาหาร  กลิ่นแกง  กลิ่นขนม ถึงไม่เห็น  เพียงได้กลิ่นก็รู้ว่าเป็นอะไร

จิตที่รู้แจ้งทางลิ้นเกิดขึ้นลิ้มรสต่าง ๆ  รสอาหารมีมากมาย  รส  เนื้อ  รสผัก  รสผลไม้  รสชา  รสกาแฟ  รสเกลือ  รสน้ำตาล  รสน้ำส้ม  รสมะนาว  รสมะขาม  เป็นรสที่ไม่เหมือนกันเลย  แต่จิตที่ลิ้มรสก็รู้แจ้งรสต่าง ๆ  ที่ปรากฏ  แม้ว่าจะต่างกันอย่างละเอียดเพียงใด  จิตก็สามารถรู้แจ้งลักษณะที่ต่างกันอย่างละเอียดนั้นได้  เช่น  ขณะชินอาหาร  จิตที่ลิ้มรสรู้แจ้งในรสนั้น  จึงรู้ว่ายังขาดรสอะไร  จะต้องปรุงอะไร  ใส่อะไร  เติมอะไร  เป็นต้น

จิตที่รู้แจ้งสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย  รู้แจ้งลักษณะต่าง ๆ  ที่กระทบกาย  เช่น  ลักษณะของเย็นลม  เย็นน้ำ  หรือเย็นอากาศ  รู้ลักษณะของผ้าไหม  ผ้าขนสัตว์  เป็นต้น  ที่กระทบกาย

การที่ปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามความจริงนั้น  จะต้องรู้ชัดว่าขณะที่คิดไม่ใช่ตัวตน  แต่เป็นจิตที่กำลังรู้เรื่องคิด  จิตที่คิดไม่ใช่จิตที่เห็น  จิตที่รู้อารมณ์ทางตา  จิตคิดรู้อารมณ์ทางใจ  ตามปกติขณะที่สภาพธรรมใดปรากฏทางกาย  จะเป็นลักษณะที่อ่อนนุ่มหรือแข็งก็ตาม  ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร  ถ้าอยู่ในที่มืด  บางท่านก็อาจจะต้องลืมตาเปิดไฟขึ้นดูว่ากำลังกระทบสัมผัสอะไร  ฉะนั้น  ตามความเป็นจริงแล้ว  ขณะที่จิตรู้แข็งนั้นไม่ใช่จิตคิดนึก  ขณะที่จิตกำลังรู้แข็งนั้นไม่มีโลกที่จิตรู้แข็งนั้น  ไม่ใช่จิตคิดนึก  ขณะที่จิตกำลังรู้แข็งนั้น  ไม่มีโลกของสมมติบัญญัติใด ๆ เลย  มีแต่สภาพที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง  แม้สภาพที่รู้แข็งนั้นก็ไม่ใช่สัตว์  บุคคล  เป็นเพียงสภาพที่รู้แจ้งเกิดขึ้นแล้วดับไป  แล้วจิตที่เกิดภายหลังจึงคิดนึกเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกาย  และทางใจ  เป็นเรื่องราวสมมติบัญญัติของสิ่งที่ปรากฏ  จนลืมว่าจิตที่เกิดขึ้นรู้แข็งและสภาพที่แข็งนั้นดับไปแล้ว  และจิตที่คิดเรื่องสิ่งที่แข็งนั้นก็ดับไป  สภาพธรรมทั้งนามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้นและดับไปสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว  จึงทำให้ไม่รู้สภาพธรรมทั้งนามธรรมและรูปธรรมนั้นเกิดดับไม่ใช่ตัวตน


.....................................



จาก...หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป  จิตตสังเขป  และภาคผนวก
โดย...สุจินต์  บริหารวนเขตต์