ฉะนั้น จึงควรศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรมทั้งหลายให้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อจะได้อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่สามารถประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนจริง ๆ การศึกษาพิจารณาธรรมโดยละเอียด ย่อมทำให้เห็นโทษของอกุศลธรรมยิ่งขึ้น และย่อมทำให้อบรมเจริญกุศลยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
ท่านถือว่าทุกอย่างเป็นของท่าน ในขณะที่วิถีจิตเกิดเท่านั้น เมื่อใดที่วิถีจิตไม่เกิด ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งกระทบสัมผัส ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เช่น ในขณะที่นอนหลับสนิท แม้ว่ายังไม่สิ้นชีวิต แต่ขณะหลับสนิทนั้นก็ไม่มีเยื่อใย ไม่มีความอาลัยอาวรณ์ไม่มีความผูกพันในสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีความยึดถือแม้แต่ในขันธ์ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เพราะขณะนั้นวิถีจิตไม่เกิดขึ้น จึงไม่รู้อารมณ์ใด ๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเลย ขณะที่ยังไม่สิ้นชีวิตเพียงแค่หลับสนิท ก็ยังขาดเยื่อใยความสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฆฐัพพะ และเรื่องราวต่าง ๆ ได้ แล้วทำไมจะไม่อบรมเจริญปัญญาเพื่อตัดเยื้อใย และการยึดมันในสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งจะทำให้อกุศลน้อยลง เมื่อรู้ว่าสภาพธรรมทุกอย่างปรากฏเพียงชั่วขณะที่วิถีจิตเกิดขึ้นเท่านั้นเอง และเมื่อจิตใดเกิดขึ้นแล้วดับไป จิตนั้นก็ดับไปจริง ๆ รูปใดเกิดแล้วดับไป รูปนั้นก็ดับไปจริง ๆ รูปที่ปรากฏทางตาเมื่อครู่นี้ดับหมดจริง ๆ วิถีจิตแต่ละขณะทางตาเมื่อครู่นี้ดับหมดจริง ๆ เสียงที่ปรากฏทางหูก็ดับหมดจริง ๆ ได้ยินก็ดับหมดจริง ๆ จิตทุกขณะและรูปทุกรูปเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปจริง ๆ แต่ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมจริง ๆ ก็ยังไม่เข้าถึงอรรถ คือ ความหมายของคำว่า "ดับ" เพราะยังไม่ประจักษ์การดับ เช่น เวลานี้ ถ้าจะกล่าวว่าจักขุวิญญาณดับสัมปฏิจฉันนจิตดับ สันตีรณจิตดับ ชวนจิตดับ ตทาลัมพนจิตดับ แต่ก็ยังไม่ประจักษ์การดับไปของสภาพธรรมใด ๆ เลย ฉะนั้น จึงต้องอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมจริง ๆ แต่ถึงแม้ว่าปัญญาขั้นนั้นยังไม่เกิด การฟังพระธรรมและการพิจาณาให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องละเอียดยิ่งขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นปัจจัยโดยเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษระของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ และปัญญาน้อม คือ ค่อยๆ ศึกษาพิจารณาจนเพิ่มความรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนขึ้นทีละเล็กละน้อย
ในอัฏฐสาลินี อตีตติกะ อธิบายอดีตธรรม (๑๐๔๔) กล่าวถึงลักษณะของธรรมที่เป็นอดีตล่วงไปแล้ว มีข้อความว่า
คำว่า "ลวงไปแล้ว" คือ ล่วงไปแล้ว ๓ ขณะ ทั้งอุปาทขณะ คือ ขณะที่เกิด ฐิติขณะ คือ ขณะที่ตั้งอยู่และภังคขณะ คือ ขณะที่ดับ
จิตดวงหนึ่ง ๆ มีอายุสั้นมากเหลือเกิน คือ เพียงเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก้ดับไป จิตทุกดวงจึงมีอนุขณะ ๓ ขณะ คือ