Friday, August 29, 2014

รูปปรมัตถ์ (๒)


รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป  เป็นมหาภูตรูป ๔  เป็นอุปาทายรูป ๒๔  เมื่อมหาภูตรูป  ๔ ไม่เกิด  อุปาทายรูป ๒๔  ก็มีไม่ได้เลย

กลุ่มของรูปแต่ละกลุ่มหรือแต่ละกลาปนั้น  เมื่อเกิดขึ้นแล้วยังไม่ดับไปทันที  เรียกว่า  สภาวรูป คือรูปที่มีลักษณะเฉพาะของตน  จะมีอาายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ
        
ลักขณรูป  ๔  มีดังนี้

          เมื่อรูปเกิดขึ้นขณะแรกเป็น     อุปจยรูป  ๑
      
          ขณะที่รูปเจริญขึ้นเป็น           สันตติรูป  ๑

          ขณะที่รูปเสื่อมลงเป็น           ชรตารูป  ๑

          ขณะที่รูปดับเป็น                  อนิจจตารูป  ๑

ลักขณะรูป  ๔  เป็น  อสภาวรูป  คือ  เป็นรูปที่ไม่มีสภาวะต่างหากเฉพาะของตน  แต่สภาวรูปทุกรูปนั้นย่อมมีลักษณะต่างกัน  ๔  ลักษณะ  คือ  ขณะที่รูปเกิดขึ้นไม่ใช่ขณะที่รูปเจริญขึ้น  และขณะที่รูปเสื่อมก็ไม่ใช่ขณะที่รูปดับ  กล่าวได้ว่า  อุปจยรูปและสันตติรูป  คือ  ขณะที่เกิดแล้วยังไม่ดับ  ส่วนชรตารูปและอนิจจตตารูปนั้น  คือ  ขณะที่ใกล้จะดับและขณะดับ

รวมอวินิพโภครูป  ๘  + ลักขณรูป  ๔  เป็น  ๑๒  รูป  นอกจากนั้นยังมีรูปอื่นอีก  เช่น

ปริจเฉทรูป  คือ  อากาสรูป  ซึ่งคั่นอยู่ระหว่างกลาปทุก ๆ กลาป  ทำให้รูปแต่ละกลาปไม่ติดกัน  ไม่ว่ารูปจะปรากฏเล็กใหญ่ขนาดใดก็ตาม  จะมีอากาสรูปคั่นอยู่ระหว่างทุก ๆ กลาปอย่างละเอียดที่สุด  ทำให้รุปแต่ละกลาปแยกออกจากกันได้  ถ้าไม่มีปริจเฉทรูปคั่นแต่ละกลาป  รูปทั้งหลายก็จะติดกันหมด  แตกแยกกระจัดกระจายออกไม่ได้เลย  แต่รูปที่ปรากฏว่าใหญ่โตก็สามารถแตกย่อยออกได้อย่างละเอียดที่สุดนั้น  ก็เพราะมีอากาศธาตุ  คือ  ปริจเฉทรูปคั่นอยู่ทุก ๆ กลาปนั่นเอง

ฉะนั้น  ปริจเฉทรูปจึงเป็นอสภาวรูปอีกรูปหนึ่ง   ซึ่งไม่มีลักษณะเฉพาะของตนที่เกิดขึ้นต่างหาก  แต่เกิดคั่นอยู่ระหว่างกลาปต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันนั่นเอง

รวมอวินิพโภครูป  ๘ +  ลักขณรูป  ๔  +  ปริจเฉทรูป  ๑  เป็น  ๑๓

ไม่ว่ารูปจะเกิดที่ใด  ภพภูมิใดก็ตาม  จะเป็นรูปที่มีใจครอง (อุปาทินนกรูป)  หรือรูปไม่มีใจครอง  (อนุปาทินนกรูป)  ก็ตามจะปราศจากรูป  ๑๓  รูปไม่ได้เลย

ส่วนรูปที่มีใจครอง  ซึ่งเป็นรูปของสัตว์  บุคคลต่าง ๆ  ในภพภูมิที่มีขันธ์ ๕  นั้น  มีปสาทรูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน (ปัจจัย)  ดังนี้  คือ

        จักขุปสาทรูป     เป็นรูปที่กระทบกับสิ่งที่ปรากฏทาางตาได้  ๑  รูป
   
        โสตปสาทรูป     เป็นรูปที่กระทบกับเสียงได้  ๑  รูป

        ฆานปสาทรูป     เป็นรูปที่กระทบกับกลิ่นได้  ๑  รูป

        ชิวหาปสาทรูป   เป็นรูปที่กระทบกับรสได้  ๑  รูป

        กายปสาทรูปเป็นรูปที่กระทบกับเย็น  ร้อน (ธาตุไฟ) ๑,  อ่อน   แข็ง (ธาตุดิน) ๑,  ตึง  ไหว (ธาตุลม) ๑

รวมอวินิพโภรูป   ๘  +  ลักขณรูป  ๔  +  ปริจเฉทรูป ๑  +  ปสาทรูป  ๕  เป็น  ๑๘  รูป


...................

หนังสืออ้างอิง
ปรมัตถธรรมสังเขป  จิตตสังเขปและภาคผนวก
โดย  สุจินต์  บริหารวนเขตต์ 
   




















Saturday, August 23, 2014

มหาภูตรูป ๔


มหาภูตรูป  เป็นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน  มี  ๔ รูป  ได้แก่

               ปฐวี    (ธาตุดิน)  เป็นรูปที่มีลักษณะอ่อนหรือแข็ง  ๑  รูป

               อาโป  (ธาตุน้ำ)   เป็นรูปที่มีลักษณะเอิบอาบหรือเกาะกุม  ๑  รูป

               เตโช  (ธาตุไฟ)   เป็นรูปที่มีลักษณะร้อนหรือเย็น  ๑  รูป

              วาโย  (ธาตุลม)    เป็นรูปที่มีลักษณะไหวหรือตึง  ๑  รูป

มหาภูตรูป ๔  เป็นปัจจัย  โดยเป็นที่อาศัยเกิดของรูปอีก  ๔  รูปในกลาปเดียวกัน  มหาภูตรูป ๔ นี้ไม่แยกกันเลย  ต่างอาศัยกันเกิดพร้อมกันและดับพร้อมกันอย่างรวดเร็ว  กลุ่มรูปที่เกิดร่วมกับมหาภูตรูปในกลาปเดียววกัน  คือ อุปาทายรูป  (รูปที่อาศัยมหาภูตรูปเกิด)  ได้แก่

               วัณโณ  (แสงสี)   เป็นรูปที่ปรากฏทางตา  ๑  รูป

                คันโธ  (กลิ่น)     เป็นรูปที่ปรากฏทางจมูก  ๑  รูป

                รโส  (รส)          เป็นรูปที่ปรากฏทางลิ้น  ๑  รูป

                โอชา  (อาหาร)  เป็นรูปที่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป  ๑  รูป

แม้ว่าอุปาทายรูปจะเกิดพร้อมกับมหาภูตรูปในกลาปเดียวกัน  แต่อุปาทายรูปก็ไม่ได้เป็นปัจจัยให้มหาภูตรูปเกิด  ฉะนั้น  มหาภูตรูป ๔  จึงเกิดพร้อมกับอุปาทายรูป  โดยมหาภูตรูปเป็นปัจจัย  คือ  เป็นที่อาศัยของอุปาทายรูป  และอุปาทายรูปเกิดพร้อมกับมหาภูตรูปโดยอาศัยมหาภูตรูป  แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยให้มหาภูตรูปเกิด


..........................


Sunday, August 17, 2014

รูปปรมัตถ์ (๑)


รูป  เป็นปรมัตถธรรมประเภทหนึ่งในจำนวนปรมัตถธรรม ๔  ประเภท  ซึ่งได้แก่  จิต  เจตสิก  รูป  นิพพาน  รูปเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์  ไม่ใช่ธาตุรู้  ไม่ใช่สภาพรู้  เช่่น  สี  เสียง  กลิ่น  รส  เย็น  ร้อน  อ่อน  แข็ง ไหว  ตึง เป็นต้น  รูปเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยปรุงแต่งและดับไปเช่นเดียวกับจิตและเจตสิก
 
รูปปรมัตถ์มีทั้งหมด  ๒๘  รูป หรือ ๒๘ ประเภท  ซึ่งเป็นรูปที่จิตรู้ได้ทางตา  คือ มองเห็นได้ทางตาเพียงรูปเดียว ส่วนอีก ๒๗  รูปนั้น จิตเห็นไม่ได้  แต่สามารถรู้ได้ทางทวารอื่น ๆ ตามประเภทของรูปนั้น ๆ  เช่น  เสียงรู้ได้ทางหู   กลิ่นรู้ได้ทางจมูก   ลิ้มรสได้ทางลิ้น  รู้เย็น  รู้ร้อน  รู้อ่อน รู้แข็ง  รู้ไหว
รู้ตึงได้ทางกาย เป็นต้น

รูปปรมัตถ์เป็นสังขารธรรม  มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น  รูป ๆ หนึ่งอาศัยรูปอื่นเกิดขึ้น  ฉะนั้น  จะมีรูปเกิดขึ้นเพียงรูปเดียวไม่ได้  ต้องมีรูปที่เกิดพร้อมกันและอาศัยกันเกิดขึ้นหลายรูปรวมกันเป็น ๑  กลุ่มเล็ก ๆ  ซึ่งแยกออกจากกันไม่ได้เลย  ภาษาบาลีเรียกว่า ๑ กลาป

รูปเกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็วมาก  เพราะว่ารูปเป็นสภาพธรรมที่ละเอียดมาก  รูปกลาปหนึ่งที่เกิดขึ้น  จะดับไปเมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ  ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก  เพราะว่าจิตเห็นและจิตที่ได้ยินขณะนี้  ปรากฏเหมือนว่าเกิดพร้อมกันนั้น  ก็เกิดดับห่างไกลกันเกินกว่า ๑๗ ขณะจิต  ฉะนั้น รูปเกิดพร้อมกับจิตที่เห็นก็ดับไปก่อนที่จิตได้ยินจะเกิดขึ้น

รูปที่เกิดดับรวมกันอยู่  เมื่อแตกย่อยอย่างละเอียด  จนไม่สามารถแยกออกได้อีกแล้ว  ในกลุ่มของรูป (กลาปหนึ่ง)  ที่เล็กที่สุดที่แยกอีกไม่ได้อีกเลย  ก็มีรูปรวมกันอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป  เรียกว่า  อวินิพโภครูป ๘  คือ  มหาภูตรูป ๔  และอุปาทายรูป ๔


..........................


หนังสืออ้างอิง...ปรมัตถธรรมสังเขป
                      จิตตสังเขป และภาคผนวก
โดย...สุจินต์ บริหารวนเขตต์













Thursday, August 14, 2014

จิตปรมัตถ์ (๓)


จิตเกิดดับที่ไหนเจตสิกก็เกิดดับที่นั่น  ไม่มีการแยกกันเกิดดับ  เพราะจิตและเจตสิกเป็นปรมัตถธรรมเป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกันดับพร้อมกันและรู้อารมณ์เดียวกัน

จิตเป็นใหญ่  เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ต่าง ๆ  ที่ปรากฏทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกายและทางใจ

เจตสิกต่าง ๆ  ที่เกิดร่วมกับจิตรู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่มีลักษณะและทำหน้าที่รู้อารมณ์ต่างกันไปตามลักษณะและกิจการงานของเจตสิกแต่ละประเภท  เพราะเหตุว่าจิตแต่ละดวงมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากน้อยแตกต่างกันและเป็นเจตสิกต่างประเภทกัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้จิตต่างกันเป็น  ๘๙  หรือ  ๑๒๑  ประเภท โดยพิเศษ 

จิตแต่ละประเภทแตกต่างกันโดยรู้อารมณ์ต่างกัน  ทำกิจต่างกัน  โดยเจตสิกเกิดร่วมด้วยต่างกัน  เช่น  จิตบางดวงมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์  จิตบางดวงมีเสียงเป็นอารมณ์  จิตบางดวงมีกลิ่นเป็นอารมณ์ จิตบางดวงมีรสเป็นอารมณ์  เป็นต้น  จิตบางดวงทำกิจเห็น  จิตบางดวงทำกิจได้ยิน  จิตบางดวงกิจได้กลิ่น  จิตบางดวงทำกิจรู้รส  เป็นต้น  จิตบางดวงมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย  จิตบางดวงมีเมตตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย  จิตบางดวงมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย  เป็นต้น 

เมื่อศึกษาและเข้าใจปรมัตถธรรมแล้ว  ก็ควรพิจารณาปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้  เพื่อรู้แจ้งลักษณะความจริงของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏนั้น  จึงจะละความเห็นผิดและความสงสัยในสภาพลักษณะของปรมัตถธรรมได้อย่างแท้จริง  ต้องพิจารณาถึงเหตุผล  เช่น  จะต้องรู้ว่าสภาพที่เห็นกับสภาพที่ได้ยินนั้นเหมือนกันหรือไม่  ถ้าเหมือนกัน  เหมือนกันอย่างไร  ถ้าไม่เหมือนกัน  ไม่เหมือนกันอย่างไร  สภาพเห็นและสภาพได้ยินเป็นจิตปรมัตถ์  แต่ว่าไม่ใช่จิตเดียวกัน  เพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดต่างกัน  จิตเห็นอาศัยสิ่งที่ปรากฏทางตากระทบกับจักขุปสาทเป็นปัจจัยจึงเกิดได้  จิตได้ยินอาศัยเสียง
กระทบทางโสตปสาทเป็นปัจจัยจึงจะเกิดได้  จิตเห็นและจิตได้ยินมีกิจต่างกันและเกิดจากปัจจัยต่างกัน


..............................


หนังสืออ้าอิง....ปรมัตถธรรมสังเขป จิตตสังเขปและภาคผนวก
โดย....สุจินต์ บริหารวนเขตต์

Tuesday, August 12, 2014

จิตปรมัตถ์ (๒)

จิตเป็นปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณที่ปรากฏทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกายและทางใจ  จิตเห็น  จิตได้ยินและจิตอื่น ๆ เกิดขึ้นเมื่อใดต้องมีอารมณ์ให้รู้  จิตเป็นปรมัตถธรรมไม่ใช่เชื้อชาติใด การที่บัญญัติว่าเป็นบุคคลนี้เห็น  หรือสัตว์นี้เห็น  ก็เป็นการบัญญัติโดยอาศัยรูปและสัญญา (จำ)
ถ้าไม่มีรูปและการจำการบัญญัติว่าเป็นบุคคลหรือสัตว์นั้นเห็นหรือได้ยินไม่ได้  ไม่ว่าจะเป็นจิตเห็นหรือจิตได้ยินของบุคคลใด  สัตว์ใด  จิตเห็นที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา  จิตได้ยินที่เกิดขึ้นก็ต้องได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู  จิตเห็นจะรู้เสียงที่ปรากฏทางหูไม่ได้  จิตได้ยินจะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่ได้  ไม่มีผู้ใดบังคับให้ปรมัตถธรรมเปลี่ยนลักษณะและสภาพของปรมัตถธรรมนั้น ๆ  เป็นอย่างอื่นได้

จิตซึ่งเป็นปรมัตถธรรมนั้นเกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น  เช่น  เมื่อมีเสียงมากระทบหู  จิตได้ยินก็เกิดขึ้น  เมื่อมีสีมากระทบตา  จิตเห็นก็เกิดขึ้นเห็นสิ่งต่าง ๆ  ที่ปรากฏทางตา  เมื่อมีกลิ่นมากระทบจมูก  จิตรู้กลิ่นก็เกิดขึ้น  จิตแต่ละประเภทจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะว่ามีปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตประเภทนั้น ๆ

ฉะนั้น  จิตจึงเกิดขึ้นต่างกันถึง ๘๙  ประเภท หรือ ๑๒๑  ประเภท  โดยพิเศษ (ซึ่งเรียกว่า ๘๙  ดวง หรือ  ๑๒๑  ดวง)  ปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตแต่ละประเภทนั้น  มิได้มีเพียงปัจจัยเดียว  แต่มีหลายปัจจัย
เช่น

           จิตเห็นเกิดขึ้นเพราะปัจจัย  คือ  ตา  ซึ่งได้แก่  จักขุปสาท  และรูป  คือ  สิ่งที่ปรากฏทางตา  เป็นต้น

จิตเป็นปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่รูป  ปรมัตถธรรมใดไม่ใใช่รูป  ปรมัตถธรรมนั้นเป็นนามธรรม  จิต  เจตสิก  นิพพานเป็นนามธรรม  รูปเป็นรูปธรรม

เจตสิกปรมัตถ์ 
เจตสิกเป็นนามธรรม  เป็นนามปรมัตถ์อีกประเภทหนึ่งกิดร่วมกับจิตและรู้อารมณ์เดียวกับจิต  เช่น ความทุกข์  ความสุข  ความรัก  ความโกรธ  ความริษยา  ความเมตตา  ความกรุณา  ความดีใจ  ความยินดี ความง่วง  เป็นต้น

ความสุข  ความทุกข์  ความโกรธ  เหล่านี้เป็นสภาพธรรมที่มีจริง  ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์  ไมใช่บุคคล  แต่เป็นสภาพธรรมประเภทหนึ่งที่ต้องเกิดร่วมกับจิต  เจตสิกจะเกิดโดยไม่มีจิตเกิดร่วมด้วยไม่ได้  และจิตก็จะเกิดโดยปราศจากเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้เช่นกัน  

เจตสิกปรมัตถ์มี  ๕๒  ประเภท  หรือเรียกว่า  ๕๒  ดวง  เช่น  ความโกรธ  (โทสะ) ก็เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง  มีลักษณะหยาบ  กระด้าง  ดุร้าย  ความรักก็เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง  คือ โลภะเจตสิกมีลักษณะยึดติด  ไม่สละและปรารถนาอารมมณ์  จะเห็นได้ว่าเจตสิกแต่ละประเภทเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง มีลักษณะไม่เหมือนกันและเจตสิกแต่ละประเภทก็ทำกิจแตกต่างกัน


...........................  



Sunday, August 10, 2014

จิตปรมัตถ์ (๑)


จิตปรมัตถ์เป็นสภาพธรรมที่มีจริง  จิตเป็นสภาพธรรมที่รู้สี  รู้เสียง  รู้กลิ่น  รู้รส  รู้สัมผัสที่กระทบกาย
ขณะที่เห็นสีต่าง ๆ ปรากฏทางตา  ตาเป็นเพียงปัจจัยที่ทำให้เกิดการเห็นหรืออาการเห็นซึ่งเป็นจิต ไม่ใช่เราเห็น เพราะตาและสีไม่รู้อะไร  สภาพธรรมที่รู้สีได้นั้นก็คือ จิต  ดังนั้น  ปรมัตถธรรม จึงเป็นสภาพธรรมที่มีจริง  ไม่ใช่ตัวตนสัตว์บุคคล  เป็นสภาพธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดทั้งสิ้น คือเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา  เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง  ถึงแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ประสูติหรือทรงตรัสรู้  สภาพธรรมทั้งหลายก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยอยู่แล้ว  แต่ปัญญาของปุถุชนไม่สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ นอกจากพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงสะสมพระบารมีมา ๔ อสงไขยแสนกัป  พระองค์ทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวงด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงแสดงธรรมทั้งปวงที่ทรงตรัสรู้  พร้อมทั้งเหตุปัจจัยของธรรมทั้งปวงโดยสภาพความเป็นจริงของธรรมนั้น ๆ  พระองค์ทรงเคารพธรรมที่ทรงตรัสรู้  มิได้ทรงแสดงธรรมทั้งปวงตามอำนาจของพระองค์  ทรงเทศนาว่า  แม้พระองค์เองก็ไม่สามารถบันดาลให้ผู้ใดพ้นทุกข์หรือบรรลุมรรค ผล นิพพานได้ แต่การประพฤติปฏิบัติธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดงไว้ดีแล้วนั้น จะเป็นปัจจัยให้บรรลุมรรค  ผล  นิพพานได้

จิตเป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้น  รู้สี  รู้เสียง  รู้กลิน  รู้รส  รู้สัมผัสทางกาย  รู้สิ่งต่าง ๆ  ตามประเภทของจิตนัน ๆ  เช่น จิตเกิดขึ้นเห็นสีทางตาเป็นจิตประเภทหนึ่ง  ได้ยินเสียงทางหูเป็นจิตประเภทหนึ่ง  จิตเกิดขึ้นได้กลิ่นทางจมูกเป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง  จิตเกิดขึ้นรู้รสทางลิ้นเป็นจิตประเภทหนึ่ง  จิตเกิดขึ้นรู้เย็น  ร้อน  อ่อน  แข็ง  ไหว  ตึง ก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง  จิตคิดนึกเกิดขึ้นรู้เรื่องราวต่าง ๆ ทางใจก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง  ทั้งนี้เพราะจิตแต่ละประเภทเกิดขึ้นตามปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตประเภทนั้น ๆ

ขณะที่จิตกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาอยู่นั้น  มิได้มีแต่เฉพาะจิตเห็นหรือเฉพาะสิ่งที่ถูกจิตเห็นเท่านั้น
แต่จะต้องมีทั้งจิตและสิ่งที่ถูกจิตเห็นด้วย  เมื่อนึกคิดเรื่องใดก็ตาม  เรื่องราวนั้นก็เป็นคำที่จิตกำลังคิดนึกอยู่ขณะนั้น  เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งใด สิ่งที่ถูกจิตรู้นั้น  เรียกว่า อารมณ์  ภาษาบาลีเรียกว่า  อารมฺมณ 

คำว่า  อารมฺมณ  (อารมณ์)  หรือ  อาลมฺพน  ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์  หมายถึง  สิ่งที่ถูกจิตรู้  ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา  สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้เสียงทางหู  เสียงนั้นก็เป็นอารมณ์ของจิต  ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้กลิ่นทางจมูก  ขณะนั้นกิ่นเป็นอารมณ์ของจิต  ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้รสทาลิ้น  ขณะนั้นรสก็เป็นอารมณ์ของจิต  ขณะใดท่ี่จิตเกิดขึ้นรู้เย็น  ร้อน  อ่อน  แข็ง  ไหว  ตึง  ขณะนั้นเย็น  ร้อน  อ่อน  แข็ง ไหว ตึง  ก็เป็นอารมณ์ของจิต  ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นคิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ  ขณะนั้นเรื่องราวต่าง ๆ ก็เป็นอารมณ์ของจิต จิตเกิดขึ้นเมื่อใดต้องมีอารมณ์ให้จิตรู้ขณะนั้น จิตจะเกิดขึ้นโดยไม่มีอารมณ์ให้รู้ไม่ได้เลย.


.....................


หนังสืออ้างอิง....ปรมัตถธรรมสังเขป จิตปรมัตถ์ และภาคผนวก
โดย....สุจินต์ บริหารวนเขตต์