Friday, August 29, 2014

รูปปรมัตถ์ (๒)


รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป  เป็นมหาภูตรูป ๔  เป็นอุปาทายรูป ๒๔  เมื่อมหาภูตรูป  ๔ ไม่เกิด  อุปาทายรูป ๒๔  ก็มีไม่ได้เลย

กลุ่มของรูปแต่ละกลุ่มหรือแต่ละกลาปนั้น  เมื่อเกิดขึ้นแล้วยังไม่ดับไปทันที  เรียกว่า  สภาวรูป คือรูปที่มีลักษณะเฉพาะของตน  จะมีอาายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ
        
ลักขณรูป  ๔  มีดังนี้

          เมื่อรูปเกิดขึ้นขณะแรกเป็น     อุปจยรูป  ๑
      
          ขณะที่รูปเจริญขึ้นเป็น           สันตติรูป  ๑

          ขณะที่รูปเสื่อมลงเป็น           ชรตารูป  ๑

          ขณะที่รูปดับเป็น                  อนิจจตารูป  ๑

ลักขณะรูป  ๔  เป็น  อสภาวรูป  คือ  เป็นรูปที่ไม่มีสภาวะต่างหากเฉพาะของตน  แต่สภาวรูปทุกรูปนั้นย่อมมีลักษณะต่างกัน  ๔  ลักษณะ  คือ  ขณะที่รูปเกิดขึ้นไม่ใช่ขณะที่รูปเจริญขึ้น  และขณะที่รูปเสื่อมก็ไม่ใช่ขณะที่รูปดับ  กล่าวได้ว่า  อุปจยรูปและสันตติรูป  คือ  ขณะที่เกิดแล้วยังไม่ดับ  ส่วนชรตารูปและอนิจจตตารูปนั้น  คือ  ขณะที่ใกล้จะดับและขณะดับ

รวมอวินิพโภครูป  ๘  + ลักขณรูป  ๔  เป็น  ๑๒  รูป  นอกจากนั้นยังมีรูปอื่นอีก  เช่น

ปริจเฉทรูป  คือ  อากาสรูป  ซึ่งคั่นอยู่ระหว่างกลาปทุก ๆ กลาป  ทำให้รูปแต่ละกลาปไม่ติดกัน  ไม่ว่ารูปจะปรากฏเล็กใหญ่ขนาดใดก็ตาม  จะมีอากาสรูปคั่นอยู่ระหว่างทุก ๆ กลาปอย่างละเอียดที่สุด  ทำให้รุปแต่ละกลาปแยกออกจากกันได้  ถ้าไม่มีปริจเฉทรูปคั่นแต่ละกลาป  รูปทั้งหลายก็จะติดกันหมด  แตกแยกกระจัดกระจายออกไม่ได้เลย  แต่รูปที่ปรากฏว่าใหญ่โตก็สามารถแตกย่อยออกได้อย่างละเอียดที่สุดนั้น  ก็เพราะมีอากาศธาตุ  คือ  ปริจเฉทรูปคั่นอยู่ทุก ๆ กลาปนั่นเอง

ฉะนั้น  ปริจเฉทรูปจึงเป็นอสภาวรูปอีกรูปหนึ่ง   ซึ่งไม่มีลักษณะเฉพาะของตนที่เกิดขึ้นต่างหาก  แต่เกิดคั่นอยู่ระหว่างกลาปต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันนั่นเอง

รวมอวินิพโภครูป  ๘ +  ลักขณรูป  ๔  +  ปริจเฉทรูป  ๑  เป็น  ๑๓

ไม่ว่ารูปจะเกิดที่ใด  ภพภูมิใดก็ตาม  จะเป็นรูปที่มีใจครอง (อุปาทินนกรูป)  หรือรูปไม่มีใจครอง  (อนุปาทินนกรูป)  ก็ตามจะปราศจากรูป  ๑๓  รูปไม่ได้เลย

ส่วนรูปที่มีใจครอง  ซึ่งเป็นรูปของสัตว์  บุคคลต่าง ๆ  ในภพภูมิที่มีขันธ์ ๕  นั้น  มีปสาทรูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน (ปัจจัย)  ดังนี้  คือ

        จักขุปสาทรูป     เป็นรูปที่กระทบกับสิ่งที่ปรากฏทาางตาได้  ๑  รูป
   
        โสตปสาทรูป     เป็นรูปที่กระทบกับเสียงได้  ๑  รูป

        ฆานปสาทรูป     เป็นรูปที่กระทบกับกลิ่นได้  ๑  รูป

        ชิวหาปสาทรูป   เป็นรูปที่กระทบกับรสได้  ๑  รูป

        กายปสาทรูปเป็นรูปที่กระทบกับเย็น  ร้อน (ธาตุไฟ) ๑,  อ่อน   แข็ง (ธาตุดิน) ๑,  ตึง  ไหว (ธาตุลม) ๑

รวมอวินิพโภรูป   ๘  +  ลักขณรูป  ๔  +  ปริจเฉทรูป ๑  +  ปสาทรูป  ๕  เป็น  ๑๘  รูป


...................

หนังสืออ้างอิง
ปรมัตถธรรมสังเขป  จิตตสังเขปและภาคผนวก
โดย  สุจินต์  บริหารวนเขตต์