Wednesday, September 3, 2014

รูปปรมัตถ์ (๓)

รูปที่มีใจครอง  คือ  มีจิตเกิดกับรูปนั้น  ในภูมิที่มีขันธ์ ๕  จิตทุกขณะต้องเกิดที่รูปตามประเทภของจิตนั้น ๆ  เช่น  จักขุวิญญาณทำกิจเห็น  เกิดที่จักขุปสาทรูป  โสตวิญญาณทำกิจได้ยิน  เกิดที่โสตปสาทรูป  ฆานวิญญาณทำกิจรู้กลิ่น  เกิดที่ฆานปสาทรูป  ชิวหาวิญญาณทำกิจลิ้มรส  เกิดที่ชิวหาปสาทรูป  กายวิญญาณทำกิจรู้เย็น  ร้อน  อ่อน  แข็ง  ไหว  ตึง  (ธาตุดิน ไฟ  ลม)  เกิดที่กายปสาทรูป

ส่วนจิตอื่น ๆ  ในภูมิที่มีขันธ์ ๕  นอกจากที่กล่าวแล้วนี้  จิตเกิดที่รูป  ๆ  หนึ่ง  เรียกว่า  หทยรูป  เพราะเป็นรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต  ฉะนั้น  วัตถุรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตจึงมี  ๖  รูป

รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔  +  ปริจเฉทรูป ๑  +  ปสาทรูป ๕  +  หทยรูป ๑  เป็น  ๑๙  รูป

รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานทุก ๆ  กลาป  จะต้องมีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วยทุกกลาป  ชีวิตินทริยรูปรักษารูปที่เกิดร่วมกันในกลาปหนึ่ง ๆ  ให้เป็นรูปที่ดำรงชีวิต  ฉะนั้น  รูปของสัตว์  บุคคลที่ดำรงชีวิตจึงต่างกับรูปทั้งหลายที่ไม่มีใจครอง

รวมอวินิพโภครูป  ๘  +  ลักขณรูป ๔  +  ปริจเฉทรูป ๑  +  ปสาทรูป ๕  +  หทยรูป ๑  +  ชีวิตินทริยรูป ๑  เป็น  ๒๐  รูป

การที่สัตว์  บุคคลทั้งหลายโดยทั่วไปต่างกันเป็นหญิงและชายนั้น  เพราะภาวะรูป  ๒  คือ

     อิตถีภาวรูป  เป็นรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วกาย  ทำให้ปรากฏเป็นทรวดทรง  สัณฐาน  อาการ  กิริยา  ท่าทางของเพศชาย

     ปุริสภาวรูป  เป็นรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วกาย  ทำให้ปรากฏเป็นทรวดทรง  สัณฐาน  อาการ  กิริยา  ท่าทางของเพศชาย

ในแต่ละบุคคลจะมีภาวรูปหนึ่งภาวรูปใด  คือ  อิตถีภาวรูป  หรือปุริสภาวรูปเพียงรูปเดียวเท่านั้น  และบางบุคคลก็ไม่มีภาวรูปเลย  เช่น  พรหมบุคคลในพรหมโลก  และผู้ที่เป็นกระเทย

รวมอวินิพโภครูป ๘  +  ลักขณรูป ๔  +  ปริจเฉทรูป ๑  +  ปสาทรูป ๕  +  หทยรูป ๑  +  ชีวิตินทริยรูป ๑  +  ภาวรูป ๒  เป็น ๒๒  รูป


..........................