การที่รูปของสัตว์ บุคคลทั้งหลายเคลื่อนไหวได้ ก็เพราะว่ามีจิต จะต้องมีรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฎฐานด้วย เพราะถ้ามีเพียงรูปที่เกิดจากกรรมเท่านั้น ก็จะเคลื่อนไหวไปมาหรือทำกิจการงานใด ๆ ไม่ได้เลย การที่รูปร่างกายเคลื่อนไหวทำกิจต่าง ๆ ได้ก็จะต้องมีวิการรูป ๓ รูป คือ
ลหุตารูป เป็นภาวะที่เบา ไม่หนักของรูป อุปมาเหมือนอาการของคนไม่มีโรค
มุทุตารูป เป็นภาวะที่อ่อน ไม่กระด้างของรูป อุปมาเหมือนหนังที่ขยำไว้ดีแล้ว
กัมมัญญตารูป เป็นภาวะที่ควรแก่การงานของรูป อุปมาเหมือนทองคำที่หลอมไว้ดีแล้ว
วิการรูป ๓ รูปนี้เป็นอสภาวรูป เป็นรูปที่ไม่มีสภาวะต่างหากเฉพาะของตน เป็นอาการวิการของมหาภูตรูป คือ เบา อ่อนและควรแก่การงาน
วิการรูป ๓ เป็นรูปที่เกิดภายในสัตว์บุคคลเท่านั้น ส่วนรูปที่ไม่มีใจครองจะไม่มีวิการรูป ๓ เลย และวิการรูป ๓ นี้ไม่แยกกันเลย
ในกลาปใดมีลหุตารูป กลาปนั้นก็มีมุทุตารูป และกัมมัญญุตารูปด้วย นอกจากนั้น เมื่อจิตต้องการเคลื่อนไหวส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ร่างกายส่วนนั้นจะต้องมีวิการรูปที่เกิดจากอุตุ (ความสม่ำเสมอของธาตุเย็นร้อน) เป็นสมุฏฐาน และมีวิการรูปที่เกิดจากอาหาร (โอชารูป) เป็นสมุฏฐานด้วย มิฉะนั้นแล้ว แม้จิตต้องการจะเคลื่อนไหว รูปก็เคลื่อนไหวไม่ได้ เช่น ผู้ที่เป็นอัมพาตหรือเคล็ดขัดยอก กระปลกกระเปลี้ย เป็นต้น
รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ + หทยรูป ๑ + ชีวิตตินทริยรูป ๑ + ภาวรูป ๒ + วิการรูป ๓ เป็น ๒๕ รูป
รูปที่มีใจครองนั้น เมื่อจิตต้องการให้รูปเป็นไปตามความประสงค์ของจิตขณะใด ขณะนั้นจิตเป็นสมุฏฐานให้ กายวิญญัติรูป คือ อาการพิเศษที่มีความหมาย หรือมีอาการเป็นไปของรูปตามที่จิตรู้ในอาการนั้นทางตา หรือทางหน้า หรือท่าทาง เช่น ถลึงตา ยิ้มเยาะ เหยียดหยาม หรือห้ามปราม เป็นต้น เมื่อจิตไม่ต้องการให้รูปแสดงความหมาย หรือมีอาการเจาะจงเป็นไปตามความประสงค์ของจิต กายวิญญัติรูปก็ไม่เกิด
ขณะใดที่จิตเป็นปัจจัยให้เกิดเสียงทางวาจา ซึ่งเป็นการพูดการเปล่งเสียงให้รู้ความหมาย ขณะนั้นจิตเป็นสมุฏฐาน คือ เป็นปัจจัยให้วจีวิญญัติรูปเกิดขึ้น กระทบฐานที่เกิดของเสียงต่าง ๆ เช่น ริมฝีปาก เป็นต้น ถ้าวจีวิญญัติรูปไม่เกิด การพูด หรือการเปล่งเสียงต่าง ๆ ก็มีไม่ได้
กายวิญญัติรูปและวจีวิญญัติรูปเป็นอสภาวรูปที่เกิดและดับพร้อมกับจิต
รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ + หทยรูป ๑ + ชีวิตินทริยรูป ๑ + ภาวรูป ๒ + วิการรูป ๓ + วิญญัติรูป ๒ เป็น ๒๗ รูป
............................
จากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป
จิตตสังเขปและภาคผนวก
โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์