ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย |
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
จิต เป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ จิตเกิดขึ้นต้องมีอารมณ์ให้จิตรู้
จิตเกิดขึ้นทุกขณะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกเป็นนามธรรม เจตสิกรู้อารมณ์เดียวกับจิต เจตสิกเกิดพร้อมกับจิตและดับพร้อมกับจิต
ผู้ที่เจริญ "จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน" ไม่ใช่รู้ว่า กำลังพอใจ หรือกำลังโกรธเท่านั้น แต่รู้ว่า สภาพ "พอใจ" หรือ "โกรธ" นั้น เป็นเพียง "นามธรรม" ชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป...... สติเป็นเจตสิกธรรมที่ทำหน้าที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมต่าง ๆ เช่น พอสติระลึกรู้ลักษณะของ "โทสมูลจิต" ว่าเป็นแต่เพียง "นามธรรม" ชนิดหนึ่ง โทสมูลจิตก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แล้วสติก็ระลึกรู้ลักษณะของจิตประเภทอื่น ๆ ต่อไป
สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม หรือระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรม ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สติเป็นอนัตตา เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย ไม่มีใครบังคับให้สติเกิดขึ้นได้ดังปรารถนา ผู้เจริญสติเองเท่านั้น ที่จะรู้ได้ว่า ได้รู้ลักษณะของนามอะไร และรู้เพิ่มขึ้นมากขึ้นจนเป็นปัญญาที่สมบูรณ์ สติเกิดเองไม่ได้ถ้าไม่เคยฟังเรื่องสติปัฏฐานมาก่อนเลย
ผู้เจริญสติจะรู้ได้ว่าปัญญา (ความเข้าใจ) นั้นเกิดขึ้นเพราะเจริญเหตุอย่างไร ? อยู่ดี ๆ ปัญญาเกิดเองไม่ได้ ก่อนที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ปัญญาก็จะต้องเกิดตามลำดับขั้น....การรู้ลักษณะของจิตว่าเป็นจิตประเภทใด สติจะระลึกรู้เพียงลักษณะของจิตที่เป็นสภาพรู้เท่านั้น ไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นโโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต ขณะนั้นจะรู้ว่าเป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาขั้นต้น
ขออนุโมทนาบุญและขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์