ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น |
ความเข้าใจเกี่ยวกับเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เวทนาเจตสิก เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน.....เวทนาเจตสิกเกิดขึ้นเพียงขณะที่สั้นมากแล้วก็ดับไปทันที......เวทนาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และเกิดขึ้นพร้อมกับจิต ในขณะนั้นความรู้สึก ทุกขเวทนา สุขเวทนา อทุกขมสุขเวทนาจึงมีได้.....เวทนาเป็นใหญ่ในการรู้สึก......เวทนาเป็นใหญ่ในการเสวยอารมณต่าง ๆ ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ
ขณะที่มีแมลงวันไต่ตามตัว แล้วเราเกิดความรูสึกว่ารำคาญ ขณะนั้น "ธาตุดิน" กำลังปรากฏ แม้ว่าขณะนั้นกำลังมีธาตุดินกำลังปรากฏ แต่เป็นการกระทบที่เบา ๆ เท่านั้น ขณะที่เกิดความรู้สึกรำคาญ ซึ่งเป็นลักษณะของเวทนาเจตสิกที่กำลังปรากฏนั่นเอง เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจะต้องมี "รูป" แข็งหรืออ่อน (ธาตุดิน) เกิดขึ้นเป็นเหตุที่ทำให้ ความรู้สึกอย่างนั้นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ขณะนั้นมีอ่อน หรือมีแข็งเกิดขึ้นเป็นเหตุ ที่ทำให้ความรู้สึกอย่างนั้นเกิดขึ้น และเหตุก็คือการกระทบกันของรูป (ธาตุดิน ธาตุไฟ และธาตุลม) ที่กระทบกับกายปสาทรูป และขณะนั้น เวทนาเจตสิก เป็นใหญ่ในการรู้สึก เรียกว่า "เวทนินทรีย์"
ถ้าเวทนาเจตสิกไม่เกิด จิตก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของเวทนาเจตสิกนั้น ๆ ได้ และเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานก็มีไม่ได้เลย แต่เพราะเหตุว่า เวทนาเจตสิกเกิดปรากฏกับจิต ในขณะนั้นความรู้สึก ทุกขเวทนา สุขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา จึงมีได้
สติเป็นสภาพธรรม ที่สามารถระลึกตรงลักษณะของ "เวทนาเจตสิกนั้น ๆ" ได้.....สติระลึกรู้ว่า "เวทนาเจตสิกนั้น ๆ เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ที่เกิดพร้อมกับจิตและดับพร้อมกับจิต ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
สำหรับการอบรมปัญญาที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานนั้น "จิต" จะต้องเกิดขึ้นรู้อารมณ์ คือ ทำกิจเพียงรู้ลักษณะของอารมณ์ต่าง ๆ เท่านั้น โดยขณะนั้น "สติ" จะทำกิจระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น และ "ปัญญา" ก็จะทำกิจรู้ลักษณะตามปรกติ ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ๆ ที่กำลังปรากฏให้จิตรู้ในขณะนั้น ๆ
ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์
.............................................