Sunday, August 5, 2012

แนวทางเจริญสติปัฏฐาน (ตอนที่ ๒)


                                                  
 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

แนวทางเจริญสติปัฏฐาน (ตอนที่๒)  

การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานจะต้องทำอย่างไร......สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือลักษณะของรูปธรรม ที่กำลังปรากฏขณะนี้  ต้องมีลักษณะของรูปธรรมปรากฏที่กายให้รู้  จึงจะเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน......เวลานี้มีกาย แต่ว่าหลงลืมสติ คือขณะนั้นไม่ได้ระลึกรู้ตรงลักษณะของรูปที่กาย  หรือไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามอย่างหนึ่งอย่างใด ที่กำลังปรากฏที่กาย นั่นก็คือหลงลืมสติ

ขณะนี้มีกายแล้ว  และก็มีรูปที่ประชุมรวมกันเป็นกาย  มีรูปหลายรูป  ไม่ได้มีเพียงรูปเดียว หรือกลุ่มเดียว เท่านั้น มีรูปเกิดอยู่ทั่วกายเยอะแยะ และก็กำลังเกิดดับ ทยอยกันเกิดทยอยกันดับในขณะนี้  เพราะฉะนั้น ในเวลาที่สติปัฏฐานเกิด สติระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กายขณะไหน....เช่น เวลานี้กำลังยืนอยู่ ก็รู้ว่ากำลังยืน  สติปัฏฐานเกิดหรือยัง......สติปัฏฐานยังไม่เกิด  ถ้าตอบไม่ได้เพราะว่ายังไม่แน่ใจ  อย่างนั้นก็ยังไม่รู้อะไรเลย  ยังไม่ต้องเจริญสติปัฏฐาน  อย่าเพิ่งรีบร้อนไปทำอะไร เพราะว่าสติปัฏฐานจะเกิดได้ต้องเข้าใจข้อปฏิบัติ  เมื่อมีความเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม  ก็จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรมตามความเป็นจริงได้  ตามที่ได้ศึกษาและเข้าใจ

ขอทบทวนอีกครั้ง....ขณะนี้เข้าใจว่า มีรูปทยอยกันเกิดทยอยกันดับ  ขณะที่รู้ว่ากำลังยืน  สติปัฏฐานยังไม่เกิด  เมื่อสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ที่กาย  ระลึกรู้อะไร......สติระลึกรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง  ที่ปรากฏที่กายเท่านั้น ไม่ใช่นึกคิดเอาเองว่ามี เย็น ร้อน อ่อน แข็ง....สภาพธรรมที่มีจริงไม่ต้องพูดก็รู้  ขณะนั้นต้องมีสภาพที่รู้แข็งด้วย  คือระลึกรู้ตรงสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏที่กายขณะนั้น  แม้ไม่พูดว่า "แข็ง" ก็รู้...... เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานจะระลึกรู้รูปแข็ง  หรือว่าจะระลึกรู้ลักษณะของนาม ซึ่งเป็นสภาพรู้ก็ได้  ระลึกอยู่เนื่อง ๆ  บ่อย ๆ  เพราะเหตุว่า ก่อนหน้านั้น ยึดถือว่าเป็นเรา ไม่ใช่เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม  จึงไม่ใช่สติปัฏฐาน....

การระลึกกายภายในกายภายนอกหมายถึงอย่างไร.....ก็หมายถึงกายของเราเอง และกายของคนอื่นก็มี  ทุกท่านก็คงจะเคยกระทบสัมผัสกายของคนอื่น  ก่อนหน้านั้นยังไม่เกิดสติปัฏฐาน ก็มีกายของเราและกายของคนอื่น  ยังยึดถือว่าเป็นกาย และยังยึดถือว่าเป็นกายคนอื่น  เมื่อสติปัฏฐานเกิด อย่าว่าแต่กายของคนอื่น  แม้กายของเราเองก็ไม่มี  มีแต่สภาพธรรมเท่านั้น  เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจได้ว่า  ที่เคยคิดเรื่องคนอื่น ลักษณะของปรมัตถธรรมจริง ๆ  เป็นเพียงรูปธรรมที่กระทบสัมผัสกับกายปสาทเท่านั้น  แล้วก็ดับไป  เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราหรือเขา รูปของใครก็ตาม เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สติปัฏฐานเกิดขึ้น เพื่อระลึกรู้ว่าไม่มีอะไรทั้งนั้น  นอกจากนามธรรมและรูปธรรมซึ่งกำลังเกิดแล้วก็ดับไป  ไม่ได้เป็นของใครเลย


จะระลึกรู้เวทนาของเราและเวทนาของผู้อื่นได้อย่างไร  ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐาน  ท่านเคยนึกถึงใจเขา ใจเรา อกเขา อกเราบ้างไหม  หรือว่ามีแต่ใจเราคนเดียว มีแต่ความรู้สึกของเราคนเดียว  ความรู้สึกของคนอื่นไม่มี  ก่อนสติปัฏฐานเกิด ก็มีคนอื่น มีใจคนอื่น  เพราะฉะนั้นเมื่อสติปัฏฐานเกิด ก็รู้ว่าไม่มีอะไรทั้งนั้น มีแต่ลักษณะของความรู้สึกของตนเอง ที่กำลังคิดเรื่องของคนอื่น  ถ้ายังไม่สามารถที่จะแยกความคิดออกจากปรมัตถธรรมได้  ก็เจริญสติปัฏฐานไม่ได้....

สติระลึกความรู้สึกไหวตึงก็เช่นกัน ไม่ใช่ไปทำอาการต่าง ๆ  แต่ให้ระลึกตรงลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปรกติ ตามความเป็นจริง  อย่างเช่น ปวดเมื่อยขณะนี้  ก็ระลึกตรงลักษณะรูปธรรมหรือนามธรรม  หรืออย่างไหวก็ระลึกได้.....ขณะนี้กำลังกระพริกตา ก็ระลึกตรงลักษณะรูปไหวหรือระลึกที่นามรู้ไหว  ที่จริงขณะนั้นมีธาตุลมเป็นประธาน  แต่ก็ไม่ต้องไปคิดถึงอะไรทั้งสิ้น สติปัฏฐาานเกิดระลึกรู้รูปธรรมหรือนามธรรมเท่านั้น  แต่ว่าปัญญาขั้นต้น  ยังไม่สามารถแยกขาดรูปธรรมออกจากนามธรรมได้  แต่จะต้องสติเกิดอีกบ่อย ๆ เนื่อง ๆ  จึงใช้คำว่า "อนุสติปัสสนา"  หรือว่าสติระลึกบ่อย ๆ เนือง ๆ นี้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทุกอย่างดับเร็ว  ทันทีที่สติระลึกรู้ รูปธรรมหรือนามธรรมเหล่านั้นก็ดับไปแล้ว  แต่ก็ยังมีปัจจัย ที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดปรากฏอีก  เช่น  แข็งก็มีปัจจัยที่จะให้ปรากฏอยู่ แต่ยังไม่ประจักษ์การดับไป เมื่อใดปัญญาสมบูรณ์ถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะที่เกิดดับ ไม่มีอะไรจะกีดกั้นการประจักษ์แจ้งของปัญญาได้เลย  แต่ต้องเกิดจากการที่สติระลึกได้เสียก่อน โดยไม่เลือกไม่เจาะจงว่าจะระลึกรูปใดหรือนามใด  แล้วศึกษาลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนั้น.


                                            ..................................... 

                                       
                                                 ขออนุโมทนาบุญค่ะ