Thursday, August 14, 2014

จิตปรมัตถ์ (๓)


จิตเกิดดับที่ไหนเจตสิกก็เกิดดับที่นั่น  ไม่มีการแยกกันเกิดดับ  เพราะจิตและเจตสิกเป็นปรมัตถธรรมเป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกันดับพร้อมกันและรู้อารมณ์เดียวกัน

จิตเป็นใหญ่  เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ต่าง ๆ  ที่ปรากฏทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกายและทางใจ

เจตสิกต่าง ๆ  ที่เกิดร่วมกับจิตรู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่มีลักษณะและทำหน้าที่รู้อารมณ์ต่างกันไปตามลักษณะและกิจการงานของเจตสิกแต่ละประเภท  เพราะเหตุว่าจิตแต่ละดวงมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากน้อยแตกต่างกันและเป็นเจตสิกต่างประเภทกัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้จิตต่างกันเป็น  ๘๙  หรือ  ๑๒๑  ประเภท โดยพิเศษ 

จิตแต่ละประเภทแตกต่างกันโดยรู้อารมณ์ต่างกัน  ทำกิจต่างกัน  โดยเจตสิกเกิดร่วมด้วยต่างกัน  เช่น  จิตบางดวงมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์  จิตบางดวงมีเสียงเป็นอารมณ์  จิตบางดวงมีกลิ่นเป็นอารมณ์ จิตบางดวงมีรสเป็นอารมณ์  เป็นต้น  จิตบางดวงทำกิจเห็น  จิตบางดวงทำกิจได้ยิน  จิตบางดวงกิจได้กลิ่น  จิตบางดวงทำกิจรู้รส  เป็นต้น  จิตบางดวงมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย  จิตบางดวงมีเมตตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย  จิตบางดวงมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย  เป็นต้น 

เมื่อศึกษาและเข้าใจปรมัตถธรรมแล้ว  ก็ควรพิจารณาปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้  เพื่อรู้แจ้งลักษณะความจริงของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏนั้น  จึงจะละความเห็นผิดและความสงสัยในสภาพลักษณะของปรมัตถธรรมได้อย่างแท้จริง  ต้องพิจารณาถึงเหตุผล  เช่น  จะต้องรู้ว่าสภาพที่เห็นกับสภาพที่ได้ยินนั้นเหมือนกันหรือไม่  ถ้าเหมือนกัน  เหมือนกันอย่างไร  ถ้าไม่เหมือนกัน  ไม่เหมือนกันอย่างไร  สภาพเห็นและสภาพได้ยินเป็นจิตปรมัตถ์  แต่ว่าไม่ใช่จิตเดียวกัน  เพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดต่างกัน  จิตเห็นอาศัยสิ่งที่ปรากฏทางตากระทบกับจักขุปสาทเป็นปัจจัยจึงเกิดได้  จิตได้ยินอาศัยเสียง
กระทบทางโสตปสาทเป็นปัจจัยจึงจะเกิดได้  จิตเห็นและจิตได้ยินมีกิจต่างกันและเกิดจากปัจจัยต่างกัน


..............................


หนังสืออ้าอิง....ปรมัตถธรรมสังเขป จิตตสังเขปและภาคผนวก
โดย....สุจินต์ บริหารวนเขตต์