Tuesday, September 23, 2014

สงเคราะห์ปรมัตถธรรม ๔


จิต  เจตสิก  รูป  นิพพาน  เป็นปรมัตถธรรม  เป็นสภาพธรรมที่มีจริง  เพราะว่า  จิต  เจตสิก  รูป  เกิดดับสืบต่อกัน  จึงปรากฏให้รูปได้  เช่น  ขณะที่เห็นรูป  ได้ยินเสียง  และคิดนึก  เป็นต้น  จิตเกิดดับสืบต่อกันทำกิจการงานต่าง ๆ  เช่น  จิตบางดวงเห็นสี  บางดวงได้ยินเสียง  และบางดวงคิดนึก  เป็นต้น  ทั้งนี้ตามประเภทของจิตและเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตนั้น ๆ  การเกิดดับสืบต่อกันของจิต  เจตสิก  รูปนั้น  เป็นไปอย่างรวดเร็วมากจนทำให้ไม่เห็นการเกิดดับ  ทำให้เข้าใจว่ารูปค่อย ๆ  เปลี่ยนแปลงไป  และทำให้เข้าใจว่าจิตนั้นเกิดเมื่อคนหรือสัตว์เกิด  จิตนั้นดับเมื่อคนหรือสัตว์ตาย  ถ้าไม่ศึกษาไม่พิจารณา  และไม่อบรมเจริญสติและปัญญาให้รู้ลักษณะของจิต  เจตสิก  รูป  ที่กำลังปรากฏ  ก็จะไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม  คือ  จิต  เจตสิก  รูป  ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลา

สภาพธรรมใดเกิดขึ้น  สภาพธรรมนั้นต้องมีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น  เมื่อไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด  ท่าน
พระสารีบุตรเกิดความเลื่อมใสในคำสอนของพระผู้มีพระภาค  ก็เพราะได้เห็นท่านพระอัสสชิ  ซึ่งเป็นภิกษุรูปหนึ่งในภิกษุปัญจวัคคีย์  ท่านพระสารีบุตรเห็นท่านพระอัสสชิมีความน่าเลื่อมใสเป็นอันมาก  จึงได้ตามท่านพระอัสสชิไป  และถามท่านพระอัสสชิว่า  ใครเป็นศาสดาและศาสดาของท่านสอนว่าอย่างไร  ท่านพระอัสสชิตอบว่า

เย   ธมฺมา   เหตุปฺปภวา            เตสํ   เหตํุ   ตถาคโต   (อาห)

เตสญฺจ   โย   นิโรโธ                  เอวํวาที   มหาสมโณติฯ

ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ  พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น  และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น  พระมหาสมณะทรงสั่งสอนอย่างนี้

ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้พร้อมทั้งเหตุปัจจัยของธรรมนั้น ๆ  ก็จะไม่มีผู้ใดรู้ว่าธรรมใดเกิดจากเหตุปัจจัยใด  ไม่มีผู้ใดรุ้ว่าจิตปรมัตถ์  เจตสิกปรมัตถ์  รูปปรมัตถ์  แต่ละประเภทนั้นเกิดขึ้นเพราะมีธรรมใดเป็นปัจจัย  พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวง  พระองค์จึงได้ทรงแสดงว่าธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดจึงเกิดขึ้น  และทรงแสดงเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดธรรมนั้น ๆ  ธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นโดยไม่มีปัจจัยไม่ได้

ที่กล่าวว่า  คนเกิด  สัตว์เกิด  เทวดาเกิด  เป็นต้นนั้น  คือ  จิต  เจตสิก  รูป  เกิดนั่นเอง  เมื่อจิต  เจตสิก  ประเภทหนึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับรูปก็บัญญัติว่าคนเกิด  เมื่อจิต  เจตสิก  เกิดขึ้นพร้อมกับรูปของเทวดาก็บัญญัติว่าเทวดาเกิด  เป็นต้น  การเกิดของคน  สัตว์  เทวดา  เป็นต้นนั้น  ต่างกันเพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดนั้นต่างกัน  เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดนั้นมีมาก  และสลับซับซ้อนมาก  แต่ด้วยพระสัพพัญญุตญาณของพระผู้มีพระภาคผู้ทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวง  พร้อมทั้งเหตุปัจจัยของธรรมทั้งปวงนั้น  พระองค์จึงได้ทรงแสดงธรรมตามสภาพความจริงของธรรมแต่ละประเภทว่า  ธรรมใดเกิดขึ้น  ธรรมนั้นมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น  ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม

ที่รู้ได้ว่ามีจิต  เจตสิก  รูป  เพราะว่า  จิต  เจตสิก  รูปเกิดขึ้นและที่จิต  เจตสิก  รูปเกิดขึ้นนั้นก็เพราะว่ามีปัจจัย  จิต  เจตสิกและรูปเป็นสังขารธรรม  

พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคนั้น  สมบูรณ์  พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ  ธรรมข้อใดที่อาจจะมีผู้เข้าใจผิดได้  พระองค์ก็ทรงบัญญัติคำกำกับให้ชัดเจนยิ่งขึ้น  เพื่อไม่ให้ผู้ใดเข้าใจความหมายของธรรมข้อนั้นผิด  เมื่อพระองค์ทรงบัญญัติว่า  ธรรมที่เกิดขึ้นมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นเป็น  สังขารธรรม  เพื่อไม่ให้ผู้ใดเข้าใจผิดว่า  ธรรมที่เกิดขึ้นนั้น  เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่ตลอดไปเรื่อย ๆ  พระองค์จึงทรงบัญญัติว่าธรรมที่เป็นสังขารธรรม  (ธรรมที่มีสภาพปรุงแต่ง)  นั้นเป็นสังขตธรรม  (ธรรมที่ปรุงแต่งแล้ว)

สังขตธรรม  คือ  ธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป  พระองค์ทรงบัญญัติคำว่า  สังขตธรรม  กับคำว่า  สังขารธรรม  เพื่อให้รู้ว่าธรรมใดที่เกิดขึ้น  ธรรมนั้นมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น  เมื่อมีปัจจัยดับ  ธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยนั้นก็ต้องดับไป  ฉะนั้น  จิตปรมัตถ์  เจตสิกปรมัตถ์  รูปปรมัตถ์  เป็นสังขารธรรม  เป็นสังขตธรรม

สพฺเพ   สงฺขารา   อนิจฺจา ฯ       สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง

สพฺเพ   สงฺขารา   ทุกขา ฯ        สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์

สพฺเพ   ธมฺมา       อนตฺตา ฯ      ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา"



.....................................


จาก  หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป  จิตตสังเขปและภาคผนวก
โดย  สุจินต์  บริหารวนเขตต์