Sunday, August 17, 2014

รูปปรมัตถ์ (๑)


รูป  เป็นปรมัตถธรรมประเภทหนึ่งในจำนวนปรมัตถธรรม ๔  ประเภท  ซึ่งได้แก่  จิต  เจตสิก  รูป  นิพพาน  รูปเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์  ไม่ใช่ธาตุรู้  ไม่ใช่สภาพรู้  เช่่น  สี  เสียง  กลิ่น  รส  เย็น  ร้อน  อ่อน  แข็ง ไหว  ตึง เป็นต้น  รูปเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยปรุงแต่งและดับไปเช่นเดียวกับจิตและเจตสิก
 
รูปปรมัตถ์มีทั้งหมด  ๒๘  รูป หรือ ๒๘ ประเภท  ซึ่งเป็นรูปที่จิตรู้ได้ทางตา  คือ มองเห็นได้ทางตาเพียงรูปเดียว ส่วนอีก ๒๗  รูปนั้น จิตเห็นไม่ได้  แต่สามารถรู้ได้ทางทวารอื่น ๆ ตามประเภทของรูปนั้น ๆ  เช่น  เสียงรู้ได้ทางหู   กลิ่นรู้ได้ทางจมูก   ลิ้มรสได้ทางลิ้น  รู้เย็น  รู้ร้อน  รู้อ่อน รู้แข็ง  รู้ไหว
รู้ตึงได้ทางกาย เป็นต้น

รูปปรมัตถ์เป็นสังขารธรรม  มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น  รูป ๆ หนึ่งอาศัยรูปอื่นเกิดขึ้น  ฉะนั้น  จะมีรูปเกิดขึ้นเพียงรูปเดียวไม่ได้  ต้องมีรูปที่เกิดพร้อมกันและอาศัยกันเกิดขึ้นหลายรูปรวมกันเป็น ๑  กลุ่มเล็ก ๆ  ซึ่งแยกออกจากกันไม่ได้เลย  ภาษาบาลีเรียกว่า ๑ กลาป

รูปเกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็วมาก  เพราะว่ารูปเป็นสภาพธรรมที่ละเอียดมาก  รูปกลาปหนึ่งที่เกิดขึ้น  จะดับไปเมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ  ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก  เพราะว่าจิตเห็นและจิตที่ได้ยินขณะนี้  ปรากฏเหมือนว่าเกิดพร้อมกันนั้น  ก็เกิดดับห่างไกลกันเกินกว่า ๑๗ ขณะจิต  ฉะนั้น รูปเกิดพร้อมกับจิตที่เห็นก็ดับไปก่อนที่จิตได้ยินจะเกิดขึ้น

รูปที่เกิดดับรวมกันอยู่  เมื่อแตกย่อยอย่างละเอียด  จนไม่สามารถแยกออกได้อีกแล้ว  ในกลุ่มของรูป (กลาปหนึ่ง)  ที่เล็กที่สุดที่แยกอีกไม่ได้อีกเลย  ก็มีรูปรวมกันอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป  เรียกว่า  อวินิพโภครูป ๘  คือ  มหาภูตรูป ๔  และอุปาทายรูป ๔


..........................


หนังสืออ้างอิง...ปรมัตถธรรมสังเขป
                      จิตตสังเขป และภาคผนวก
โดย...สุจินต์ บริหารวนเขตต์