Sunday, August 10, 2014

จิตปรมัตถ์ (๑)


จิตปรมัตถ์เป็นสภาพธรรมที่มีจริง  จิตเป็นสภาพธรรมที่รู้สี  รู้เสียง  รู้กลิ่น  รู้รส  รู้สัมผัสที่กระทบกาย
ขณะที่เห็นสีต่าง ๆ ปรากฏทางตา  ตาเป็นเพียงปัจจัยที่ทำให้เกิดการเห็นหรืออาการเห็นซึ่งเป็นจิต ไม่ใช่เราเห็น เพราะตาและสีไม่รู้อะไร  สภาพธรรมที่รู้สีได้นั้นก็คือ จิต  ดังนั้น  ปรมัตถธรรม จึงเป็นสภาพธรรมที่มีจริง  ไม่ใช่ตัวตนสัตว์บุคคล  เป็นสภาพธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดทั้งสิ้น คือเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา  เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง  ถึงแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ประสูติหรือทรงตรัสรู้  สภาพธรรมทั้งหลายก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยอยู่แล้ว  แต่ปัญญาของปุถุชนไม่สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ นอกจากพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงสะสมพระบารมีมา ๔ อสงไขยแสนกัป  พระองค์ทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวงด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงแสดงธรรมทั้งปวงที่ทรงตรัสรู้  พร้อมทั้งเหตุปัจจัยของธรรมทั้งปวงโดยสภาพความเป็นจริงของธรรมนั้น ๆ  พระองค์ทรงเคารพธรรมที่ทรงตรัสรู้  มิได้ทรงแสดงธรรมทั้งปวงตามอำนาจของพระองค์  ทรงเทศนาว่า  แม้พระองค์เองก็ไม่สามารถบันดาลให้ผู้ใดพ้นทุกข์หรือบรรลุมรรค ผล นิพพานได้ แต่การประพฤติปฏิบัติธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดงไว้ดีแล้วนั้น จะเป็นปัจจัยให้บรรลุมรรค  ผล  นิพพานได้

จิตเป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้น  รู้สี  รู้เสียง  รู้กลิน  รู้รส  รู้สัมผัสทางกาย  รู้สิ่งต่าง ๆ  ตามประเภทของจิตนัน ๆ  เช่น จิตเกิดขึ้นเห็นสีทางตาเป็นจิตประเภทหนึ่ง  ได้ยินเสียงทางหูเป็นจิตประเภทหนึ่ง  จิตเกิดขึ้นได้กลิ่นทางจมูกเป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง  จิตเกิดขึ้นรู้รสทางลิ้นเป็นจิตประเภทหนึ่ง  จิตเกิดขึ้นรู้เย็น  ร้อน  อ่อน  แข็ง  ไหว  ตึง ก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง  จิตคิดนึกเกิดขึ้นรู้เรื่องราวต่าง ๆ ทางใจก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง  ทั้งนี้เพราะจิตแต่ละประเภทเกิดขึ้นตามปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตประเภทนั้น ๆ

ขณะที่จิตกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาอยู่นั้น  มิได้มีแต่เฉพาะจิตเห็นหรือเฉพาะสิ่งที่ถูกจิตเห็นเท่านั้น
แต่จะต้องมีทั้งจิตและสิ่งที่ถูกจิตเห็นด้วย  เมื่อนึกคิดเรื่องใดก็ตาม  เรื่องราวนั้นก็เป็นคำที่จิตกำลังคิดนึกอยู่ขณะนั้น  เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งใด สิ่งที่ถูกจิตรู้นั้น  เรียกว่า อารมณ์  ภาษาบาลีเรียกว่า  อารมฺมณ 

คำว่า  อารมฺมณ  (อารมณ์)  หรือ  อาลมฺพน  ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์  หมายถึง  สิ่งที่ถูกจิตรู้  ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา  สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้เสียงทางหู  เสียงนั้นก็เป็นอารมณ์ของจิต  ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้กลิ่นทางจมูก  ขณะนั้นกิ่นเป็นอารมณ์ของจิต  ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้รสทาลิ้น  ขณะนั้นรสก็เป็นอารมณ์ของจิต  ขณะใดท่ี่จิตเกิดขึ้นรู้เย็น  ร้อน  อ่อน  แข็ง  ไหว  ตึง  ขณะนั้นเย็น  ร้อน  อ่อน  แข็ง ไหว ตึง  ก็เป็นอารมณ์ของจิต  ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นคิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ  ขณะนั้นเรื่องราวต่าง ๆ ก็เป็นอารมณ์ของจิต จิตเกิดขึ้นเมื่อใดต้องมีอารมณ์ให้จิตรู้ขณะนั้น จิตจะเกิดขึ้นโดยไม่มีอารมณ์ให้รู้ไม่ได้เลย.


.....................


หนังสืออ้างอิง....ปรมัตถธรรมสังเขป จิตปรมัตถ์ และภาคผนวก
โดย....สุจินต์ บริหารวนเขตต์