ภูมิ หมายถึง โอกาสโลกซึ่งเป็นสถานที่เกิดของสัตวโลกนั้น มีทั้งหมด ๓๑ ภูมิ ตามระดับขั้นของจิต คือ กามภูมิ ๑๑ ภูมิ รูปพรหมมี ๑๖ ภูมิ อรูปพรหมภูมิมี ๔ ภูมิ รวมโอกาสโลกซึ่งเป็นสถานที่เกิดของสัตว์โลกทั้งหมดมี ๓๑ ภูมิ คือ ๓๑ ระดับขั้น ซึ่งสถานที่เกิดแต่ละขั้นนั้นมีมากกว่า คือ แม้แต่ภูมิของมนุษย์ก็ไม่ได้มีแต่โลกนี้โลกเดียว ยังมีโลกมนุษย์อื่น ๆ อีกด้วย
กามภูมิ ๑๑ ภูมินั้น ได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษย์ ๑ และสวรรค์ ๖ ซึ่งจะขอกล่าวเพียงย่อ ๆ คือ
อบายภูมิ ๔ ได้แก่ นรก๑ สัตว์ดิรัจฉาน ๑ ปิตติวิสัย (เปรต)๑ อสุรกาย ๑
นรกไม่ใช่เพียงแต่แห่งเดียวหรือขุมเดียว นรกขุมใหญ่ ๆ มีหลายขุม เช่น สัญชวนรก กาฬสุตนรก
สังฆาตนรก โรรุวนรก มหาโรรุวนรก ตาปนนรก มหาตาปนนรก และอเวจีนรก นอกจากนั้นนรกใหญ่ก็ยังมีนรกย่อย ๆ ซึ่งในพระไตรปิฎกก็ไม่ได้กล่าวถึงโดยละเอียดมากนัก เพราะจุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงภูมิต่าง ๆ ก็เพื่อทรงแสดงให้เห็นเหตุและผลของกุศลกรรมและอกุศลกรรม สิ่งใดซึ่งไม่สามารถที่เห็นชัดประจักษ์แจ้งด้วยตา ก็ย่อมไม่เป็นสิ่งที่ควรแสดงเท่ากับสภาพที่สามารถจะพิสูจน์โดยอบรมเจริญปัญญาให้รู้ได้
การเกิดในอบายภูมิ ๔ นั้น ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมหนักก็เกิดในนรก ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมที่หนักมากก็เกิดในมหานรกที่สุดจะทรมาน คือ อเวจีนรก และเมื่อพ้นจากนรกขุมใหญ่ ๆ แล้วก็เกิดในนรกขุมย่อย ๆ อีก เมื่อยังไม่หมดผลของอกุศลกรรม ขณะที่กระทำอกุศลกรรมนั้นไม่คิดเลยว่า ภูมินรกรออยู่แล้วข้างหน้า แต่ว่ายังไปไม่ถึง เพราะว่ายังอยู่ในโลกนี้ ตราบใดที่ยังไม่พ้นจากสภาพของการเป็นบุคคลในโลกนี้ ก็ยังไม่ไปสู่ภูมิอื่น แม้ว่าเหตุคืออกุศลกรรมมีแล้ว เมื่อทำอกุศสลกรรมแล้วย่อมเป็นปัจจัยให้ไปสู่อบายภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่งเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว
ผลของอกุศลกรรมที่น้อยกว่านั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอบายภูมิอื่น เช่น เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน จะเห็นได้ว่า สัตว์ดิรัจฉานนั้นมีรูปร่างประหลาด ๆ ต่าง ๆ นานา บางชนิดมีขามาก บางชนิดมีขาน้อย บางชนิดไม่มีขาเลย มีปีกบ้าง ไม่มีปีกบ้าง อยู่ในน้ำบ้าง อยู่บนบกบ้าง มีรูปร่างลักษณะต่าง ๆ มากมาย ตามความวิจิตรของจิต มนุษย์มีตา หู จมูก ลิ้น กายคล้ายกัน แต่ผิวพรรณวัณณะ ความสูงต่ำก็ยังวิจิตรต่าง ๆ กัน ไม่เหมือนกันเลย ไม่ว่าจำนวนคนในโลกนี้จะมากสักเท่าไรก็ตาม รวมทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตด้วย แต่สัตว์ดิรัจฉานก็ยิ่งวิจิตรต่างกันมากกว่ามนุษย์ ทั้งสัตว์น้ำ สัตว์บก และสัตว์ที่บินได้ ซึ่งก็ย่อมเป็นไปตามกรรม อันเป็นเหตุให้มีรูปร่างวิจิตรนั้น ๆ
ผลของอกุศลกรรมที่น้อยกว่านั้นเป็นปัจจัยให้เกิดในภูมิของ เปรต ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า ปิตติวิสัย เปรตทรมานด้วยความหิวอยู่เสมอ และภูมิของเปรตก็วิจิตรต่าง ๆ กันมาก
มนุษย์ทุกคนมีโรคประจำตัวประจำวัน คือ โรคหิว ซึ่งจะว่าไม่มีโรคไม่ได้ เพราะความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง ลองหิวมากจะรู้สึก ถ้าหิวนิดหน่อยแล้วรับประทานอาหาร ซึงถ้าเป็นอาหารอร่อย ๆ ก็เลยลืมว่า แท้จริงนั้นความหิวไม่ใช่ความสบายกายเลย เป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไขบรรเทาให้หมดไป คนที่หิวมากเมื่อไม่ได้รับประทานอาหารก็จะรู้สึกสภาพที่เป็นความทุกข์ของความหิว ว่าถ้าหิวมาก ๆ กว่านั้นจะเป็นอย่างไร
การเกิดเป็นเปรตเป็นผลของอกุศลกรรม เปรตใดอนุโมทนากุศลที่บุคคลอื่นกระทำแล้วอุทิศไปให้ กุศลจิตที่อนุโมทนานั้น เป็นปัจจัยให้ได้อาหารที่เหมาะสมแก่ภูมิของตนบริโภค หรืออาจจะพ้นสภาพของเปรต โดยจุติแล้วปฏิสนธิในภูมิอื่น เมื่อหมดผลของกรรมที่ทำให้เป็นเปรตต่อไป
อบายภูมิ อีกภูมิหนึ่ง คือ อสุรกาย การเกิดเป็นอสุรกายเป็นผลของอกุศลกรรมที่เบากว่าอกุศลกรรมอื่น เพราะผู้ที่เกิดเป็นอสุรกายนั้น ไม่มีความรื่นเริงใด ๆ อย่างในภูมิมนุษย์และสวรรค์ ในภูมิมนุษย์มีหนังสือพิมพ์อ่าน มีหนังละครดู มีเพลงฟัง แต่ในอสุรกายภูมิไม่สามารถที่จะแสวงหาความเพลิดเพลินสนุกสนานได้เหมือนในสุคติภูมิ
เมื่ออกุศลกรรมมีต่างกัน ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดย่อมต่างกันออกไปตามเหตุ คือ อกุศลกรรมนั้น ๆ
...............................
จากหนังสือ ปรมัตถธรรมสังเขป
จิตตสังเขป และภาคผนวก
โดย...สุจินต์ บริหารวนเขตต์