Sunday, December 22, 2013

การจำแนกจิต (๓)

กามาวจรจิต  คือ  จิตขั้นกามที่ท่องเที่ยวไปในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  เป็นจิตที่ยินดีพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  เป็นจิตที่ไม่พ้นจากรูป  เสียง   กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  บางท่านก็บอกว่าทำบุญแล้วอยากจะเกิดในสวรรค์  สวรรค์ก็ไม่พ้นไปจากรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  แต่เป็นกามอารมณ์ที่ประณีกว่ากามอารมณ์ในโลกมนุษย์

ฉะนั้น  ตั้งแต่เกิดจนตาย  ขณะใดที่จิตสงบไม่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ  คือ  ไม่เป็นฌานจิต  และไม่เป็นโลกุตตรจิต  ขณะนั้นก็เป็นกามาวจรจิต  ขณะหลับและตื่น  เห็น  ได้ยิน  ได้กลิ่น  ลิ้มรส  รู้สิ่งกระทบสัมผัส  คิดนึกต่าง ๆ  นั้น  ไม่ใช่สัตว์  บุคคล  ตัวตนเลย  แต่เป็นจิตขั้นกาม  คือ  กามาวจรจิตทั้งสิ้น

ผู้ที่ไม่ใช่พระอนาคามีและพระอรหันต์นั้น  ยังมีความพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  แสดงว่าความพอใจในกามอารมณ์ที่ปรากฏทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  นั้นละได้ยากเพียงใด  และถึงแม้ว่าจะอบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌานจิต  และเกิดในพรหมโลก  ก็ยังละความยินดีพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น  รสโผฏฐัพพะไม่ได้เป็นสมุขเฉท

เมื่อยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคลก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก  คือ  เป็นผู้ยินดีพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  ทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ฉะนั้น  จึงไม่ควรประะมาทกิเลส  และจะต้องเข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง  ตามเหตุผล  จึงจะสามารถอบรมเจริญปัญญาที่ดับกิเลสได้จริง  ๆ  เป็นสมุจเฉท

บทว่า  กามาวจร  ได้แก่  จิตอันนับเนื่องในกามาวจรธรรม  ข้อความในอัฏฐสาลินีแสดงว่า  ภูมิของกามาวจรธรรมนั้น  เบื้องต่ำตั้งแต่อเวจีนรกขึ้นมา  เบื้องบนตั้งแต่เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตีลงมา  ภูมิเหล่านี้เป็นภูมิของกามอารมณ์ทั้งหมด

ความหมายของ กามาวจรจิต  แบ่งออกเป็น  ๔  นัย  ดังนี้

นัยที่ ๑   เป็นจิตขั้นกาม  ไม่พ้นไปจากกาม

นัยที่ ๒   เป็นจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามภูมิ  ๑๑  คือ  อบายภูมิ  ๔,    มนุษย์  ๑  และสวรรค์ ๖

นัยที่ ๓   ชื่อว่า  กามาวจรจิต  เพราะว่า  ย่อมท่องเที่ยวไปด้วยสามารถแห่งการกระทำให้เป็นอารมณ์
คือ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฎฐัพพะ  ย่อมท่องเที่ยวไปในจิตนั้น  ๆ  ด้วยสามารถแห่งการกระทำให้เป็นอารมณ์  แม้เพราะเหตุนั้น ๆ  ชื่อ  กามาวจร

ถ้าจะให้เข้าใจง่ายก็  คือ  จิตใดก็ตามที่เกี่ยวเนื่องเป็นไปในกาม  คือ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์  จิตนั้นเป็นกามาวจร

นัยที่ ๔   อีกอย่างหนึ่ง  จิตใดย่อมยังปฏิสนธิให้ท่องเที่ยวไปในกาม  กล่าวคือ  กามภพ  (อบายภูมิ ๔  มนุษย์ ๑  สวรรค์๖)  เหตุนั้น  จิตนั้นชื่อว่า  กามาวจร

ทุกท่านที่อยู่ในโลกมนุษย์นี้  เพราะกามาวจรจิต  ทำให้กามปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในภูมิมนุษย์  เป็นกามภูมิ

ผู้ที่เจริญสมถภาวนาจนจิตสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิเป็นรูปฌานจิต  หรืออรูปฌานจิต  ถ้าฌานจิตไม่เสื่อม  และฌานจิตเกิดก่อนจุติจิต  ฌานกุศลจิตนั้นไม่เป็นปัจจัยในเกิดในโลกนี้  แต่เป็นปัจจัยให้เกิดในรูปพรหมภูมิ  หรือในอรูปพรหมภูมิตามขั้นของฌานนั้น ๆ  การเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกามาวจรกุศล  คือ  ทาน  ศีล  การอบรมสมถภาวนา  การอบรมเจริญสติปัฏฐาน  ซึ่งยังไม่พ้นไปจากกาม  ฉะนั้น  จึงทำให้ปฏิสนธิในกามภูมิ

เมื่อจิตต่างกันเป็นประเภท ๆ  และจิตแต่ละประเภทนั้นก็วิจิตต่างกันมาก  ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของสัตวโลกก็ต้องต่างกันไป  ไม่ใช่มีแต่มนุสสภูมิ  คือ โลกนี้โลกเดียว  และแม้ว่าจะเป็นกามวจรกุศลกำลังของศรัทธา ปัญญาและสัมปยุตตธรรม  คือ  เจตสิกทั้งหลายที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น  ก็วิจิตรต่างกันมาก  จึงจำแนกให้ได้รับผล  คือ  เกิดในสุคติภูมิต่าง ๆ  ไม่ใช่แต่ในภูมิมนุษย์เท่านั้น

สำหรับอกุศลกรรมก็เช่นเดียวกัน  ขณะที่ทำอกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น  ถ้าสังเกตจะรู้ความแตกต่างกันของอกุศลกรรม  ว่่าหนักเบาด้วยอกุศลธรรมเพียงไร  บางครั้งประกอบด้วยความพยาบาทมาก บางครั้งก็ไม่ได้ประกอบด้วยความพยาบาทรุนแรง  บางครั้งก็ขาดความเพียร  ไม่ได้มีวิริยะอุตสาหะที่จะทำร้ายเบียดเบียน  แต่เป็นการกระทำซึ่งประกอบด้วยเจตนาเพียงเล็กน้อยและสัตว์เล็ก ๆ  นั้นก็ตายลง  เมื่อแต่ละกรรมที่ได้กระทำไปนั้น  ประกอบด้วยสัมปยุตตธรรม  คือ  เจตสิกขั้นต่าง ๆ  อกุศลกรรมนั้น  ก็เป็นปัจจัยจำแนกให้อกุศลวิบากจิต  ทำกิจปฏิสนธิ  คือ  เกิดในอบายภูมิต่าง ๆ  ๔  ภูมิ


............................