Tuesday, August 12, 2014

จิตปรมัตถ์ (๒)

จิตเป็นปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณที่ปรากฏทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกายและทางใจ  จิตเห็น  จิตได้ยินและจิตอื่น ๆ เกิดขึ้นเมื่อใดต้องมีอารมณ์ให้รู้  จิตเป็นปรมัตถธรรมไม่ใช่เชื้อชาติใด การที่บัญญัติว่าเป็นบุคคลนี้เห็น  หรือสัตว์นี้เห็น  ก็เป็นการบัญญัติโดยอาศัยรูปและสัญญา (จำ)
ถ้าไม่มีรูปและการจำการบัญญัติว่าเป็นบุคคลหรือสัตว์นั้นเห็นหรือได้ยินไม่ได้  ไม่ว่าจะเป็นจิตเห็นหรือจิตได้ยินของบุคคลใด  สัตว์ใด  จิตเห็นที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา  จิตได้ยินที่เกิดขึ้นก็ต้องได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู  จิตเห็นจะรู้เสียงที่ปรากฏทางหูไม่ได้  จิตได้ยินจะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่ได้  ไม่มีผู้ใดบังคับให้ปรมัตถธรรมเปลี่ยนลักษณะและสภาพของปรมัตถธรรมนั้น ๆ  เป็นอย่างอื่นได้

จิตซึ่งเป็นปรมัตถธรรมนั้นเกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น  เช่น  เมื่อมีเสียงมากระทบหู  จิตได้ยินก็เกิดขึ้น  เมื่อมีสีมากระทบตา  จิตเห็นก็เกิดขึ้นเห็นสิ่งต่าง ๆ  ที่ปรากฏทางตา  เมื่อมีกลิ่นมากระทบจมูก  จิตรู้กลิ่นก็เกิดขึ้น  จิตแต่ละประเภทจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะว่ามีปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตประเภทนั้น ๆ

ฉะนั้น  จิตจึงเกิดขึ้นต่างกันถึง ๘๙  ประเภท หรือ ๑๒๑  ประเภท  โดยพิเศษ (ซึ่งเรียกว่า ๘๙  ดวง หรือ  ๑๒๑  ดวง)  ปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตแต่ละประเภทนั้น  มิได้มีเพียงปัจจัยเดียว  แต่มีหลายปัจจัย
เช่น

           จิตเห็นเกิดขึ้นเพราะปัจจัย  คือ  ตา  ซึ่งได้แก่  จักขุปสาท  และรูป  คือ  สิ่งที่ปรากฏทางตา  เป็นต้น

จิตเป็นปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่รูป  ปรมัตถธรรมใดไม่ใใช่รูป  ปรมัตถธรรมนั้นเป็นนามธรรม  จิต  เจตสิก  นิพพานเป็นนามธรรม  รูปเป็นรูปธรรม

เจตสิกปรมัตถ์ 
เจตสิกเป็นนามธรรม  เป็นนามปรมัตถ์อีกประเภทหนึ่งกิดร่วมกับจิตและรู้อารมณ์เดียวกับจิต  เช่น ความทุกข์  ความสุข  ความรัก  ความโกรธ  ความริษยา  ความเมตตา  ความกรุณา  ความดีใจ  ความยินดี ความง่วง  เป็นต้น

ความสุข  ความทุกข์  ความโกรธ  เหล่านี้เป็นสภาพธรรมที่มีจริง  ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์  ไมใช่บุคคล  แต่เป็นสภาพธรรมประเภทหนึ่งที่ต้องเกิดร่วมกับจิต  เจตสิกจะเกิดโดยไม่มีจิตเกิดร่วมด้วยไม่ได้  และจิตก็จะเกิดโดยปราศจากเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้เช่นกัน  

เจตสิกปรมัตถ์มี  ๕๒  ประเภท  หรือเรียกว่า  ๕๒  ดวง  เช่น  ความโกรธ  (โทสะ) ก็เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง  มีลักษณะหยาบ  กระด้าง  ดุร้าย  ความรักก็เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง  คือ โลภะเจตสิกมีลักษณะยึดติด  ไม่สละและปรารถนาอารมมณ์  จะเห็นได้ว่าเจตสิกแต่ละประเภทเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง มีลักษณะไม่เหมือนกันและเจตสิกแต่ละประเภทก็ทำกิจแตกต่างกัน


...........................