Thursday, November 6, 2014

จิต (๕)


จุดประสงค์ของการศึกษาปรมัตถธรรมเรื่องจิต  ก็เพื่อเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้เข้าใจลักษณะของจิตที่กำลังเห็น  กำลังได้ยิน  กำลังคิดนึก  เป็นต้น  เพื่อให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้  ธาตุรู้  ที่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ  ขณะที่ศึกษาเรื่องจิตก็อย่าเพิ่งคิดว่ารู้ลักษณะของจิตชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว  และจุดประสงค์ของการศึกษาเรื่องจิตนั้น  ไม่ใช่เพื่อต้องการเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องจิตมาก ๆ  แต่เพื่อเป็นสังขารปรุงแต่งให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพของจิตซึ่งเป็นนามธรรม  ซึ่งเป็นธาตุรู้  ที่กำลังรู้ในขณะนี้  เพื่อปัญญาที่อบรมเจริญขึ้นแล้วนั้น  จะได้คลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน

คำอธิบาย  คำว่า  "จิต"  ในอัฏฐสาลินี  จิตตุปปาทกัณฑ์  มีต่อไปนี้

จะอธิบายคำว่า  "จิตตํ"  ต่อไป  ที่ชื่อว่า  "จิต"  เพราะอรรถว่า  คิด  อธิบายว่า  รู้แจ้งอารมณ์  อีกอย่างหนึ่งเพราะเหตุที่ศัพท์ว่า  "จิตตํ" นี้  ทั่วไปแก่จิตทุกดวง  ฉะนั้น  ในคำว่า  "จิตตํ" นี้  โลกิยกุศลจิต  อกุศลจิต  และมหากิริยาจิต  จึงชื่อว่า  "จิต"  เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี  ชื่อว่า  "จิต"  เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม  กิเลส  สั่งสมวิบาก  อนึ่ง  แม้จิตทุกดวงชื่อว่า  "จิต"  เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร  ชื่อว่า  "จิต"  เพราะกระทำให้วิจิตร

ถ้าศึกษาจากตำรารุ่นหลัง  ๆ  ที่มีผู้รวบรวมไว้ก็จะทราบว่าอรรถของจิต  ๖  อย่างที่กล่าวไว้ในตำรารุ่นหลัง ๆ  นั้นมาจากข้อความในอัฏฐสาลินี  อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์  ซึ่งอธิบายคำว่า  "จิต"  ที่สามารถจะแยกออกได้เป็นข้อ ๆ  คือ

ชื่อว่า  "จิต"  เพราะอรรถว่า  คิด  อธิบายว่า  เพราะรู้แจ้งอารมณ์ ๑

ชื่อว่า  "จิต"  เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี ๑

ชื่อว่า  "จิต"  เพราะกระทำให้วิจิตร ๑

ซึ่งก็จะขอกล่าวถึงตามลำดับ  เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของจิตตามที่กล่าวไว้ในอัฏฐสาลีนี

ที่ชื่อว่า  "จิต"  เพราะอรรถว่า  "คิด"  อธิบายว่ารู้แจ้งอารมณ์

ทุกท่านคิดเสมอ  ถ้าสังเกตพิจารณาความคิด  ก็จะเห็นได้ว่าช่างคิดเสียจริง  และคิดไปต่าง ๆ  นานา  ไม่มีทางยุติความคิดได้เลย  จนกระทั่งบางท่านไม่อยากจะคิด  อยากจะสงบ ๆ  คือ  หยุดไม่คิด  เพราะเห็นว่าเมื่อคิดแล้วก็เดือดร้อนใจ  เป็นห่วง  วิตกกังวล  กระสับกระส่าย  ด้วยโลภะบ้าง  หรือด้วยโทสะบ้าง  และเข้าใจว่าถ้าไม่คิดเสียได้ก็จะดี  แต่ให้ทราบว่าจิตนั่นเองเป็นสภาพธรรมที่คิด  รูปธรรมคิดไม่ได้  เมื่อพิจารณาเรื่องที่จิตคิด  ก็จะรู้ได้ว่า  เพราะเหตุใดจิตจึงคิดเรื่องอย่างนั้น ๆ  ซึ่งบางครั้งไม่น่าจะคิดอย่างนั้นเลย  ตามปกติจิตย่อมเกิดขึ้นคิดไปในเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง  ทางหูบ้าง  ทางจมูกบ้าง  ทางลิ้นบ้าง  ทางกายบ้าง  ทางใจบ้างอยู่เรื่อย ๆ  จนเห็นว่าเป็นเรื่องราวจริงจัง  แต่ที่เห็นว่าเป็นเรื่องราวจริงจังทั้งหมดนั้น  ก็เป็นเพียงเพราะจิตเกิดขึ้นคิดเรื่องนั้นแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง  ซึ่งถ้าเพียงจิตไม่คิดถึงเรื่องนั้นเท่านั้น  เรื่องนั้นก็จะไม่มี


............................


จาก...หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป, จิตตสังเขปและภาคผนวก
โดย...สุจินต์  บริหารวนเขตต์