Wednesday, October 22, 2014

จิต (๔)


ข้อความในอัฏฐสาลินีที่ว่า  แม้เพราะความหมายว่า (จิต) เป็นเหตุ  คือ  เพราะจิตเป็นเหตุแห่งผัสสะ  เป็นต้น

ผัสสะเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งใน  ๕๒  ประเภท  ผัสสเจตสิกเป็นนามธรรมที่กระทบอารมณ์  ขณะที่รูปกระทบกับรูป  เช่น  ต้นไม้ล้มกระทบพื้นดิน  การกระทบกันของต้นไม้และพื้นดินไม่ใช่ผัสสเจตสิก  ขณะที่เสียงกระทบกับโสตปสาท  โสตปสาทเป็นรูป  เสียงเป็นรูป  ถ้าผัสสเจตสิกไม่เกิดขึ้นกระทบเสียงที่กะทบโสตปสาท  จิตได้ยินก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย

ผัสสเจตสิก  เป็นนามธรรมซึ่งเกิดพร้อมกับจิต  ดับพร้อมกับจิต  รู้อารมณ์เดียวกับจิต  และเกิดที่เดียวกับจิต  ฉะนั้น  จิตจึงเป็นเหตุแห่งผัสสะ  ในภูมิที่มีขันธ์ ๕  จิตและเจตสิกต้องเกิดที่รูปใดรูปหนึ่งเสมอ  รูปใดเป็นที่เกิดของจิตและเจตสิก  รูปนั้นเป็นวัตถุรูป  จักขุปสาทเป็นวัตถุรูป  เพราะเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณ  สภาพธรรมที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นโดยลำพังอย่างเดียวไม่ได้  แต่จะต้องมีสภาพธรรมอื่นเป็นปัจจัยเกิดร่วมด้วยพร้อมกันในขณะนั้น

สภาพธรรมใดเป็นปัจจัยใด้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นพร้อมกับตน  สภาพธรรมนั้นเป็นสหชาติปัจจัย

สห   แปลว่า  ร่วมกัน  พร้อมกัน

ชาต  แปลว่า  เกิด

ปัจจัย  คือ  ธรรมซึ่งอุปการะอุดหนุนให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นหรือดำรงอยู่  แสดงว่าสภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม  เพราะอาศัยธรรมอื่นเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้น  ถ้าปราศจากปัจจัย  สภาพธรรมทั้งหลายก็เกิดไม่ได้  และสภาพธรรมซึ่งเป็นสหชาตปัจจัยนั้น  ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นพร้อมกับตน  แต่สภาพธรรมบางอย่างก็เป็นปัจจัยโดยเกิดก่อนสภาพธรรมที่ตนเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น  สภาพธรรมบางอย่างก็เป็นปัจจัยโดยเกิดภายหลัง

ฉะนั้น  จิตจึงเป็นสหชาตปัจจัยแก่เจตสิกที่เกิดพร้อมกับจิตนั้น  และเจตสิกก็เป็นสหชาตปัจจัยแก่จิตที่เกิดพร้อมกับเจตสิกนั้น  เมื่อผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบอารมณ์ใด  จิตที่เกิดพร้อมกับผัสสเจตสิกนั้น  ก็รู้อารมณ์ที่ผัสสเจตสิกนั้นกระทบ  ไม่ใช่ว่าผัสสเจตสิกกระทยอรมณ์หนึ่งแล้วจิตที่เกิดพร้อมกับผัสสเจตสิกนั้นไปรู้อีกอารมณ์หนึ่ง  ขณะใดที่ผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบเสียงใด  โสตวิญญาณที่เกิดพร้อมกับผัสสเจตสิกที่กระทบเสียงนั้น  ก็มีเสียงนั้นเป็นอารมณ์


.....................................


จาก........หนังสือปรมัถธรรมสังเขป,  จิตตสังเขป  และภาคผนวก
โดย........สุจินต์  บริหารวนเขตต์