Wednesday, October 22, 2014

จิต (๓)


จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ  ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางจ  เมื่อผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์ใด  จิตก็เกิดพร้อมผัสสะนั้น  ก็ร฿้แจ้งลักษณะต่าง ๆ  ของอารมณ์นั้น
ฉะนั้น  แม้คำว่ารู้แจ้งอารมณ์ซึ่งเป็นลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้  ก็จะต้องเข้าใจว่า  "รู้แจ้งอารมณ์"
คือ  รู้ลักษณะต่าง ๆ  ของอารมณ์ต่าง ๆ  ที่ปรากฏ  ไม่ว่าจะเป็นทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกาย  ทางใจ  เมื่อจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์  อารมณ์จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตแต่ละประเภทเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น  ฉะนั้นอารมณ์จึงเป็นอารัมมณปัจจัย  คือ  เป็นปัจจัยให้จิตเกิดโดยเป็นอารมณ์ของจิต  จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นนั้นมีปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัย  แต่จิตจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้อารมณ์ไม่ได้  ฉะนั้น  อารมณ์จึงเป็นปัจจัยหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้จิตแต่ละขณะเกิดขึ้น

อีกประการหนึ่ง  เพราะเหตุที่ศัพท์ว่า  "จิตตํ"  เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถีนั้น  จะต้องเข้าใจเรื่องของจิตซึ่งเกิดดับ ๆ  สืบต่อกันอย่างรวดเร็วว่า  นามธรรมที่เกิดกับจิตแล้วดับไปแต่ละขณะนั้น  สะสมสืบต่อในจิตขณะหลัง ๆ  ที่เกิดดับสืบต่อมานั่นเอง

เมื่อจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู  เป็นต้น  ตามปกติจะไม่รู้ว่าขณะที่เห็นหรือได้ยินนั้นเป็นลักษณะของจิต  แต่มักจะรู้ว่าขณะใดจิตใจเป็นทุกข์  เศร้าหมอง  ขุ่นมัว  ขณะใดจิตใจสบาย  แจ่มใส  ขณะใดโกรธ  ขณะใดเมตตาสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น  ขณะใดเป็นมิตรไมตรีกับบุคคลอื่น  จิตแต่ละขณะที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วนั้น  ก็สั่งสมสันดานของตน  คือไม่ว่าจะเป็นโลกิยกุศล  อกุศล  แต่ละขณะที่เกิดขึ้นแล้วดับไปนั้น  เป็นปัจจัยสะสมสืบต่อในจิตดวง (ขณะ)  ต่อ ๆ  ไป
เพราะเมื่อจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป  การดับไปของจิตดวงก่อนเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อทันที  ฉะนั้น  จิตดวงที่เกิดต่อจึงมีสภาพธรรมซึ่งจิตดวงก่อนสะสมไว้แล้วสืบต่อไปในจิตดวงหลัง ๆ  ที่เกิดต่อ ๆ  ไปอีกเรื่อย ๆ

แต่ละท่านจะสังเกตได้ว่า  แต่ละบุคคลมีอัธยาศัยต่าง ๆ  กัน  มีอุปนิสัยต่าง ๆ  กัน  ตามการสะสมของจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน  บางท่านก็เป็นผู้ใจบุญใจกุศล  เพราะจิตที่เป็นบุญกุศลได้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป  แล้วจิตที่เกิดสืบต่อก็สะสมบุญกุศลนั้น ๆ  เป็นปัจจัยสืบต่อ ๆ  ไปข้างหน้า  อกุศลก็เช่นเดียวกัน  ไม่ว่าจะเป็นจิตประกอบด้วยโลภะ  โทสะ  หรือโมหะ  เมื่ออกุศลจิตประเภทนั้น ๆ  ดับไปแล้ว  ก็เป็นป้ัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อสภาพธรรมที่สะสมอยู่ในจิตดวงก่อนต่อไปอีก  การที่จิตดวงหลังเกิดต่อจากจิตดวงก่อนอยู่เรื่อย ๆ  นั้น  เพราะจุตทุกดวงเป็นอนันตรปัจจัย   คือ  เป็นปัจจัยทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อทันทีที่จิตดวงก่อนดับ

จิตทุกดวงเป็นอนันตรปัจจัย  ทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น  เว้นจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้น  ที่ไม่เป็นอนันตรปัจจัย  เมื่อจุติจิตของพระอรหันต์ดั  จึงเป็นปรินิพพาน  ไม่มีปฏิสนธิจิตหรือจิตใด ๆ  เกิดสืบต่ออีกเลย  ฉะนั้น  ปัจจัยที่กล่วถึงแล้วจึงมี  ๓  ปัจจัย  คือ  สหชาตปัจจัย  อารัมมณปัจจัย  และอนันตรปัจจัย


...............................


จาก...หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป,  จิตตสังเขป,  ภาคผนวก
โดย...สุจินต์  บริหารนวเขตต์