Thursday, October 9, 2014

จิต (๒)


จิตเป็นสภาพที่เห็นแจ้ง  คือ  รู้แจ้งลักษณะที่ละเอียดต่าง ๆ  ของอารมณ์ต่าง ๆ  อุปมาเหมือนกระจกเงาที่ใสสะอาด  ไม่ว่าสิ่งใดจะผ่านก็ย่อมปรากฏเงาในกระจกฉันนั้น  ขณะนี้จักขุปสาทเป็นรูปซึ่งมีลักษณะประดุจกระจกใสพิเศษ  สามารถกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา  โสตปสาทสามารถกระทบเฉพาะเสียง  ฆานปสาทสามารถกระทบเฉพาะกลิ่น  ชิวหาาปสาทสามารถกระทบเฉพาะรส  กายปสาทสามารถกระทบเฉพาะรูปที่กระทบกาย  ฉะนั้น  ไม่ว่าจะเป็นสีสันวัณณะอย่างใด ๆ  ก็ตาม จะเป็นสีเพชรแท้  เพชรเทียมหยก  หิน  หรือแม้สีแววตาที่ริษยา  ก็ปรากฏให้จิตเห็นได้ทั้งสิ้น  ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาปรากฏกับจิตที่รู้แจ้ง  ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นมีลักษณะอย่างไร  จิตก็รู้แจ้งในลักษณะที่ปรากฏนั้น ๆ  คือ  เห็นสีสันต่าง ๆ  ทั้งหมดของสิ่งต่าง ๆ  ที่ปรากฏจึงทำให้รู้ความหมาย  รู้รูปร่างสัณฐานและคิดนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาได้

เสียงที่ปรากฏทางหูเป็นเสียงเดียวกันทั้งหมด  หรือต่างกันเป็นแต่ละเสียงตามปัจจัยที่ทำให้เสียงนั้น ๆ  เกิดขึ้น  คนมีเท่าไร  เสียงของแต่ละบุคคลก็ต่างกันไปเท่านั้น  จิตรู้แจ้งเสียงที่ปรากฏต่าง ๆ  กัน  เสียงเยาะเย้ย  เสียงประชดถากถางดูหมิ่น  เสียงลมพัด  เสียงน้ำตก  เสียงสัตว์ร้อง  สัตว์นานาชนิดก็ร้องต่าง ๆ  กันหรือแม้คนที่เลียนเสียงสัตว์  จิตก็รู้แจ้งทางของลักษณะของที่ต่างกัน  จิตได้ยินเสียงรู้แจ้ง  คือ  ได้ยินเสียงทุกเสียงที่ต่างกัน

สภาพธรรมทุกอย่างปรากฏได้ก็เพราะจิตเกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์นั้น ๆ  ที่ปรากฏ  จิตที่รู้แจ้งทางจมูกเกิดขึ้นรู้แจ้งกลิ่นต่าง ๆ  ที่ปรากฏ  กลิ่นสัตว์ทุกชนิด  กลิ่นพืชพันธุ์ดอกไม้นานาชนิด  กลิ่นอาหาร  กลิ่นแกง  กลิ่นขนม ถึงไม่เห็น  เพียงได้กลิ่นก็รู้ว่าเป็นอะไร

จิตที่รู้แจ้งทางลิ้นเกิดขึ้นลิ้มรสต่าง ๆ  รสอาหารมีมากมาย  รส  เนื้อ  รสผัก  รสผลไม้  รสชา  รสกาแฟ  รสเกลือ  รสน้ำตาล  รสน้ำส้ม  รสมะนาว  รสมะขาม  เป็นรสที่ไม่เหมือนกันเลย  แต่จิตที่ลิ้มรสก็รู้แจ้งรสต่าง ๆ  ที่ปรากฏ  แม้ว่าจะต่างกันอย่างละเอียดเพียงใด  จิตก็สามารถรู้แจ้งลักษณะที่ต่างกันอย่างละเอียดนั้นได้  เช่น  ขณะชินอาหาร  จิตที่ลิ้มรสรู้แจ้งในรสนั้น  จึงรู้ว่ายังขาดรสอะไร  จะต้องปรุงอะไร  ใส่อะไร  เติมอะไร  เป็นต้น

จิตที่รู้แจ้งสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย  รู้แจ้งลักษณะต่าง ๆ  ที่กระทบกาย  เช่น  ลักษณะของเย็นลม  เย็นน้ำ  หรือเย็นอากาศ  รู้ลักษณะของผ้าไหม  ผ้าขนสัตว์  เป็นต้น  ที่กระทบกาย

การที่ปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามความจริงนั้น  จะต้องรู้ชัดว่าขณะที่คิดไม่ใช่ตัวตน  แต่เป็นจิตที่กำลังรู้เรื่องคิด  จิตที่คิดไม่ใช่จิตที่เห็น  จิตที่รู้อารมณ์ทางตา  จิตคิดรู้อารมณ์ทางใจ  ตามปกติขณะที่สภาพธรรมใดปรากฏทางกาย  จะเป็นลักษณะที่อ่อนนุ่มหรือแข็งก็ตาม  ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร  ถ้าอยู่ในที่มืด  บางท่านก็อาจจะต้องลืมตาเปิดไฟขึ้นดูว่ากำลังกระทบสัมผัสอะไร  ฉะนั้น  ตามความเป็นจริงแล้ว  ขณะที่จิตรู้แข็งนั้นไม่ใช่จิตคิดนึก  ขณะที่จิตกำลังรู้แข็งนั้นไม่มีโลกที่จิตรู้แข็งนั้น  ไม่ใช่จิตคิดนึก  ขณะที่จิตกำลังรู้แข็งนั้น  ไม่มีโลกของสมมติบัญญัติใด ๆ เลย  มีแต่สภาพที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง  แม้สภาพที่รู้แข็งนั้นก็ไม่ใช่สัตว์  บุคคล  เป็นเพียงสภาพที่รู้แจ้งเกิดขึ้นแล้วดับไป  แล้วจิตที่เกิดภายหลังจึงคิดนึกเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกาย  และทางใจ  เป็นเรื่องราวสมมติบัญญัติของสิ่งที่ปรากฏ  จนลืมว่าจิตที่เกิดขึ้นรู้แข็งและสภาพที่แข็งนั้นดับไปแล้ว  และจิตที่คิดเรื่องสิ่งที่แข็งนั้นก็ดับไป  สภาพธรรมทั้งนามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้นและดับไปสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว  จึงทำให้ไม่รู้สภาพธรรมทั้งนามธรรมและรูปธรรมนั้นเกิดดับไม่ใช่ตัวตน


.....................................



จาก...หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป  จิตตสังเขป  และภาคผนวก
โดย...สุจินต์  บริหารวนเขตต์