Wednesday, December 10, 2014

จิต (๖)


ข้อความในอัฏฐสาลินีว่า  ที่ชื่อว่า  "จิต"  เพราะอรรถว่า  "คิด"  อธิบายว่า  รู้แจ้งอารมณ์

สภาพ  "รู้"  มีลักษณะต่างกันตามประเภทของสภาพธรรมนั้น ๆ  เช่น  เจตสิก  ก็เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์แต่ไม่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์  เจตสิกแต่ละประเภทเกิดขึ้นพร้อมกับจิต  รู้อารมณ์เดียวกับจิต  แต่ว่ากระทำกิจเฉพาะของเจตสิกนั้น ๆ  เช่น  ผัสสเกิดร่วมกับจิต  เกิดพร้อมกับจิต  แต่ผัสสเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์  โดยกระทบอารมณ์  ซึ่งถ้าผัสสเจตสิกไม่รู้อารมณ์ย่อมไม่กระทบอารมณ์  ฉะนั้น  ผัสสเจตสิกจึงรู้อารมณ์เพียงโดยกระทบอารมณ์  แต่ไม่ใช่รู้แจ้งอารมณ์   ปัญญาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่รู้ธรรมเห็นธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง  เช่น  รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน  สัตว์  บุคคล  ของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ  แต่จิตซึ่งเป็นสภาพรู้นั้น  มีคำอธิบายว่า  รู้แจ้งอารมณ์  จึงไม่ใช่การรู้อย่างผัสสะที่กระทบอารมณ์  ไม่ใช่การรู้อย่างสัญญาที่จำหมายลักษณะของอารมณ์  ไม่ใช่การรู้อย่างปัญญา  แต่จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษระต่าง ๆ  ของอารมณ์ที่ปรากฏ  สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา  ในขณะนี้ต่างกันไหม  สภาพธรรมเป็นสัจจธรรม  เป็นสิ่งซึ่งพิสูจน์ได้  ขณะนี้เห็นสิ่งเดียว  สีเดียวหมด  หรือเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสีต่าง ๆ  อย่างละเอียดจนทำให้รู้ความต่างกันได้ว่า  สิ่งที่เห็นนั้นเพชรแท้  หรือเพชรเทียม เป็นต้น  จิตเป็นสภาพที่เห็นแจ้ง  คือ  รู้แจ้งแม้ลักษณะที่ละเอียดต่าง ๆ  ของอารมณ์ต่าง ๆ  อุปมาเหมือนกระจกเงาที่ใสสะอาด  ไม่ว่าสิ่งใดจะผ่านก็ย่อมปรากฏเงาในกระจกฉันใด  ขณะนี้จักขุปสาทเป็นรูปซึ่งมีลักษณะประดุจใสพิเศษ  สามารถกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา  โสตปสาทสามารกระทบเฉพาะเสียง  ฆานปสาทสามารถกระทบเฉพาะกลิ่น  ชิวหาปสาทสามารถกระทบเฉพาะรส  กายปสาทสามารถกระทบเฉพาะรูปที่กระทบกาย  ฉะนั้น  ไม่ว่าจะเป็นสีสันวัณณะอย่างใด ๆ  ก็ตาม  จะเป็นสีเพชรแท้  เพชรเทียม  หยก  หิน  หรือแม้สีแววตาที่ริษยา  ก็ปรากฏให้จิตเห็นได้ทั้งสิ้น  ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาปรากฏกับจิตที่รู้แจ้ง  ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นมีลักษณะอย่างไร  จิตก็รู้แจ้งในลักษณะที่ปรากฏนั้น ๆ  คือ  เห็นสีสันต่าง ๆ  ทั้งหมดของสิ่งต่าง ๆ  ที่ปรากฏจึงทำให้รู้ความหมาย  รู้รูปร่างสัณฐานและคิดนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาได้

เสียงที่ปรากฏทางหูเป็นเสียงเดียวกันทั้งหมด  หรือต่างกันเป็นแต่ละเสียงตามปัจจัยที่ทำให้เสียงนั้น ๆ  เกิดขึ้น  คนมีเท่าไร  เสียงของแต่ละบุคคลก็ต่างกันไปเท่านั้น  จิตรู้แจ้งทุกเสียงที่ปรากฏต่าง ๆ  กัน  เสียงเยาะเย้ย  เสียงประชดถากถางดูหมิ่น  เสียงลมพัด  เสียงน้ำตก  เสียงสัตว์ร้อง  สัตว์นานาชนิดก็ร้องต่าง ๆ  กัน  หรือแม้คนที่เลียนเสียงสัตว์  จิตก็รู้แจ้งของลักษณะของเสียงที่ต่างกัน  จิตได้ยินเสียงรู้แจ้ง  คือ  ได้ยินเสียงทุกเสียงที่ต่างกัน

สภาพธรรมทุกอย่างปรากฏได้ก็เพราะจิตเกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์นั้น ๆ  ที่ปรากฏ  จิตที่รู้แจ้งทางจมูกเกิดขึ้นรู้แจ้งกลิ่นต่าง ๆ  ที่ปรากฏ  กลิ่นสัตว์ทุกชนิด  กลิ่นพืชพันธุ์ดอกไม้นานาชนิด  กลิ่นอาหาร กลิ่นแกง  กลิ่นขนม  ถึงไม่เห็น  เพียงได้กลิ่นก็รู้ว่าเป็นอะไร


..................................


จาก....หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป  จิตตสังเขปและภาคผนวก
โดย....สุจิตต์  บริหารวนเขตต์