จิตที่รู้แจ้งสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย รู้แจ้งลักษณะต่าง ๆ ที่กระทบกาย เช่น ลักษณะของเย็นลม เย็นน้ำ หรือเย็นอากาศ รู้ลักษณะของผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ เป็นต้น ที่กระทบกาย
ท่านผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านกำลังยืนอยู่ที่ถนนก็เกิดระลึกรู้ลักษณะแข็งที่ปรากฏ แล้วต่อไปก็คิดว่าแข็งนี้เป็นถนน และต่อไปก็คิดว่าแข็งนี้เป็นรองเท้า แล้วต่อไปก็คิดว่าแข็งนี้เป็นถุงเท้า นี่เป็นความคิดเรื่องลักษณะแข็งที่ปรากฏ จิตที่คิดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อกระทบแข็งจึงคิดว่าแข็งนี้คืออะไร แข็งนี้ถนน แล้วต่อไปแข็งนี้รองเท้า แล้วต่อไปแข็งนี้ถุงเท้า จะเห็นได้ว่า ไม่มีใครสามารถยับยั้งความคิดนึกเรื่องสิ่งต่าง ๆ ได้ แต่การที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่าจิตเกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์แต่ละขณะแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่กำลังคิดถึงถนน รองเท่า ถุงเท้า ไม่ใช่ขณะที่รู้แจ้งลักษณะที่แข็งปรากฏ ฉะนั้น การที่ปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามความจริงนั้น จะต้องรู้ชัดว่าขณะที่คิดไม่มีตัวตน แต่เป็นจิตที่กำลังรู้เรื่องคิด จิตที่คิดไม่ใช่จิตที่เห็น ไม่ใช่จิตที่รู้อารมณ์ทางตา จิตคิดรู้อารมณ์ทางใจ ตามปกติขณะที่สภาพธรรมใดปรากฏทางกาย จะเป็นลักษณะที่อ่อนนุ่มหรือแข็งก็ตาม ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ถ้าอยู่ในที่มืดบางท่านก็อาจจะต้องลืมตาเปิดไฟขึ้นดูว่ากำลังกระทบสัมผัสอะไร
ฉะนั้น ตามความเป็นจริงแล้วขณะที่จิตรู้แข็งนั้นไม่ใช่จิตคิดนึก ขณะที่จิตกำลังรู้แข็งนั้นไม่มีโลกของถุงเท้า รองเท้า หรือถนน ไม่มีโลกของสมมติบัญญัติใด ๆ เลย มีแต่สภาพที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง แม้สภาพที่รู้แข็งนั้นก็ไม่ใช่สัตว์บุคคล เป็นเพียงสภาพที่รู้แข็งเกิดขึ้นแลัวดับไป แล้วจิตที่เกิดภายหลังจึงคิดนึกเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทาย ทางใจ เป็นเรื่องราวสมมติบัญญิของสิ่งที่กำลังปรากฏ จึงลืมว่าจิตที่เกิดขึ้นรู้แข็งและสภาพที่แข็งนั้นดับไปแล้ว และจิตที่คิดเรื่องสิ่งที่แข็งนั้นก็ดับไป สภาพธรรมทั้งนามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้นและดับไปสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ไม่รู้สภาพธรรมทั้งนามธรรมและรูปธรรมนั้นเกิดดับไม่ใช่ตัวตน
จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทาใจ เมื่อสัมผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์ใด จิตก้เกิดพร้อมผัสสะนั้น ก็รู้แจ้งลักษณะต่าง ๆ ของอารมณ์นั้น ฉะนั้น แม้คำว่ารู้แจ้งอารมณ์ซึ่งเป็นลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ก็จะต้องเข้าใจว่า "รู้แจ้งอารมณ์" คือ รู้ ลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ อารมณ์จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตแต่ละประเภทเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น ฉะนั้น อารมณ์จึงเป็นอารัมมณปัจจัย คือ เป็นปัจจัยให้จิตเกิดโดยเป็นอารมณ์ของจิต จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นมีปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัย แต่จิตจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ ฉะนั้น อารมณ์จึงเป็นปัจจัยหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้จิตแต่ละขณะเกิดขึ้น
...............................
จาก.....หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป จิตตสังเขปแและภาคผนวก
โดย...อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์