Tuesday, July 17, 2018

จิต (ตอน ๗)


ขณะเห็นในขณะนี้เป็นจักขุวิญญาณ  เป็นวิบากจิตเกิดแล้วเพราะอดีตกรรมเป็นปัจจัย  แต่วิบากจิตที่เห็นจะเป็นเหตุให้เกิดวิบากอีกไม่ได้
ขณะกำลังได้ยิน  คือ  ขณะที่จิตกำลังรู้เสียงนั้นเป็นวิบากจิต  แต่ว่าโสตวิญญาณ  คือ จิตที่ได้ยินเสียงนั้นจะเป็นเหตุให้เกิดวิบากไม่ได้

เมื่อวิบากจิตไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบากจิต  และไม่สามารถที่ะยังการกระทำทางกาย  วาจา  ใด ๆ  ให้เกิดขึ้น  และวิบากจิตต่างไม่ประกอบด้วยธรรม  เช่น  กรุณาเจตสิก  มุทิตาเจตสิก  และวิรตีเจตสิก ๓  (คือสัมมาวาจาเจตสิก  สัมมากัมมันตเจตสิก  สัมมาอาชีวเจตสิก)  เว้นโลกุตตรวิบากจิตที่มีวิรตีเจตสิก  ๓  ดวง  เกิดร่วมด้วย  ฉะนั้น  วิบากจิตเองไม่ชื่อว่าเป็นธรรมชาติที่เลว  ปานกลาง  ประณีต  แต่วิบากแห่งกรรมเลวจัดเป็นเลว  วิบากแห่งกรรมปานกลางจัดเป็นปานกลาง  วิบากแห่งกรรมประณีตจัดเป็นประณีต

เมื่อวิบากเป็นแต่เพียงธรรมซึ่งเป็นผลของเหตุที่เป็นอกุศลหรือกุศล  แต่ตัววิบากเองไม่ชื่อว่าเป็นสภาพธรรมที่เลว  ปานกลาง  ประณีต  และไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก  ฉะนั้น  จึงรวมเป็นชาติวิบาก  ๑  ชาติ  เพราะไม่ต่างกันโดยประการต่าง ๆ  อย่างสภาพธรรมที่เป็นเหตุ  คือ  อกุศล และกุศล  ซึ่งแยกเป็นอกุศล  ๑  ชาติ  และกุศล  ๑  ชาติ

วิบากจิตทั้งหมดเป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว
จักขุวิญญาณ                      เป็นวิบากจิต
สัมปฏิจฉันนจิต                    เป็นวิบากจิต
สันตีรณจิต                          เป็นวิบากจิต
ตทาลัมพนจิต                       เป็นวิบากจิต

ฉะนั้น  ต้องรู้ว่าขณะใดเป็นวิบาก  ขณะใดเป็นกุศล  ขณะใดเป็นอกุศล  ขณะใดเป็นกิริยา
ขณะใดที่เห็นรูปสีสันวัณณะที่น่าพอใจ  จักขุวิญญาณที่เกิดขึ้นเห็นนั้นเป็นกุศลวิบาก  สัมปฏิจฉันนจิตก็เป็นกุศลวิบาก  สันตีรณจิตก็เป็นกุศลวิบาก  ตทาลัมพนจิตก็เป็นกุศสลวิบาก  เมื่อรูปที่ปรากฏทางตาดับไปแล้ว  วิถีจิตทางตาดับไปหมดแล้ว  ภวังคจิตก็เกิดดับสืบต่อจนกว่าวิถีจิตต่อไปจะเกิด  ฉะนั้น  ควรรู้ว่าขณะเห็นสิ่งใดทางตา  วิบากจิตทั้งหมดที่เป็นวิถีจิตวาระนั้นเป็นผลของอดีตกรรมหนึงที่ได้กระทำแล้ว

ขณะได้ยินเสียงที่น่าพอใจ  หรือเสียงที่ไม่น่าพอใจ  ก็เพียงชั่วขณะที่วิบากจิตเกิดขึ้น  เป็นวิถีจิตรู้เสียงที่ได้ยินนั้นแล้วก็ดับไปหมดไปจริง ๆ  แต่อกุศลก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นพอใจหรือไม่พอใจในรูปต่าง ๆ  ที่ปรากฏทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกายมากมายเหลือเกิน  ที่ว่ามากก็คือวันหนึ่ง  ๆ  ไม่พ้นความพอใจบ้าง  ไม่พอใจบ้างในสิ่งที่ปรากฏทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกาย  ทางใจ  โดยขั้นการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น  ไม่สามารถที่จะดับอกุศลได้  ทั้ง ๆ  ที่รู้ว่าขณะเห็นเป็นเพียงวิบาก  เป็นผลของกรรมในอดีต  แต่ก็ยับยั้งความพอใจ  คือ  โลภะไม่ให้เกิดไม่ได้  ในขณะที่เห็นสิ่งที่น่าพอใจ

                                                                       ..............................

จาก....หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป  จิตตสังเขปและภาคผนวก 
ดย....สุจินต์  บริหารวนเขตต์