Friday, May 11, 2012

สมาธิคืออะไร





สวัสดีค่ะ ท่านผู้สนใจในสมาธิทุกท่าน

วันนี้ก็จะขอทบทวนเรื่อง "สมาธิ" อีกครั้งหนึ่ง เพื่อท่านผู้อ่านที่สนใจจะอบรมเจริญสมาธิ จะได้เริ่มต้นอย่างถูกต้อง ไม่หลงผิดหรือหลงทาง  ไปอบรมเจริญอกุศล เพราะเข้าใจผิด คิดว่าเป็นการเจริญกุศล เพราะฉะนั้นจึงควรศึกษาให้เข้าใจก่อน  แล้วจึงค่อยลงมือปฏิบัติ 


สมาธิคืออะไร

สมาธิ คือ สภาพตั้งมั่นคงของจิต อยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หรือจิตตั้งมั่นอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น สภาพธรรมที่ทำให้จิตตั้งมั่น อยู่ในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ได้แก่ "เอกัคคตาเจตสิก" ซึ่งเกิดพร้อมกับจิต และดับพร้อมกับจิต  เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ  แม้แต่ขณะนี้้ก็มีเอกัคคตาเจตสิก เกิดพร้อมกับจิต....เวลาที่มีลักษณะอาการของสมาธิ หมายถึงว่าจิตขณะนั้น รู้อารมณ์เดียวนาน ๆ และตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์นั้น เช่น เวลาที่เราทำงานอะไรสักอย่าง เราก็จะตั้งใจทำอย่างจริงจัง เพื่อที่จะไม่ให้ทำผิดพลาด ขณะนั้นก็จะเกิดลักษณะอาการของสมาธิได้

สมาธิมี ๒ ลักษณะ คือ สัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ ถ้าจิตตั้งมั่นในสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญาในขณะนั้น ก็เรียกสมาธินั้นว่าเป็น "มิจฉาสมาธิ"  เช่น ขณะที่กำลังอ่านหนังสือ ขณะนั้นจิตเป็นสมาธิ เพราะว่ากำลังจดจ่อ อยู่กับเรื่องราวที่กำลังอ่าน พิจารณาและเข้าใจเรื่องราวที่อ่านด้วย  แต่่ขณะนั้นไม่มีปัญญา ดังนั้นจึงเป็นมิจฉาสมาธิ....จะสังเกตได้ว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม จิตสามารถตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ ไม่ว่าจะ เดิน ยืน นั่ง นอน สภาพที่จิตตั้งมั่นอยู่ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ยังคงตั้งมั่นอยู่ที่สิ่งนั้น ดังนั้นเราจึงสามารถบอกได้ว่า ขณะนี้เป็นลักษณะอาการของสมาธิ....

ส่วนสมาธิที่ประกอบด้วยปัญญานั้น เป็น "สัมมาสมาธิ" เป็นลักษณะของจิตที่สงบจากอกุศลธรรมทั้งปวง สัมมาสมาธิเป็นสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ เมื่อใดที่จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด สติระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏขณะนี้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน และไม่ใช่บุคคล เรา เขา ขณะนั้นเป็นสัมมาสมาธิ เช่น ขณะที่กำลังอ่านหนังสือ กำลังจดจ่ออยู่กับเรื่องราวที่กำลังอ่าน ไม่ใช่ด้วยความเป็นเรา สติระลึกรู้สภาพธรรม ที่ปรากฏขณะนี้ทางตา เป็นเพียงสิ่งต่างๆ  เป็นเพียงสภาพธรรม เป็นเพียงรูปารมณ์ หรือเป็นเพียงรูปที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล  รูปไม่สามารถรู้อะไรได้......ส่วนจักขุวิญญาณหรือจิตเห็น เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้  เป็นวิบากจิตที่เกิดขึ้นทางตา ทำหน้าที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วก็ดับไป....เพราะฉะนั้นถ้าท่านจะเจริญอบรมสมาธิ ก็ควรศึกษาความแตกต่างระหว่าง "สัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ" ให้เข้าใจเสียก่อน เพื่อที่กุศลจะได้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น ตามกำลังของสติปัญญา


--------------------------------------------------------------------------------------------------------------