ไม่มีใครชอบขณะที่จิตขุ่นเคือง กระวนกระวาย กระสับกระส่าย เศร้าโศก เดือดร้อน หงุดหงิด รำคาญใจ แต่ชอบความสุขสนุกสนานเพลิดเพลิน ซึ่งขณะที่สนุกสนานรื่นเริงนั้น จิตเป็นอกุศล เพราะเกิดร่วมกับโลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง ปรารถนาพอใจ เพลิดเพลินในอารมณ์ การศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น เพื่อให้สติปัฎฐาน (คือสติที่) ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฎและอบรมเจริญปัญญา โดยศึกษา คือ พิจารณาสังเกตจนรู้ชัดสภาพธรรมนั้น ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมใดเป็นกุศล สภาพธรรมใดเป็นอกุศล และสภาพธรรมใดไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ว่าอกุศลธรรมใด ๆ ขั้นหยาบหรือละเอียดก็เป็นอกุศลธรรมทั้งสิ้น ไม่ใช่เป็นอกุศลธรรมเฉพาะขณะที่โทสะเกิดเท่านั้น
บางท่านถามว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่โกรธ
สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา โทสะก็เป็นอนัตตา โทสะเกิดขึ้นเพราะเหตุเป็นปัจจัย ผู้ดับความโกรธได้เป็นสมุจเฉท โทสเจตสิกไม่เกิดอีกเลยนั้น เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีบุคคล
การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระอริยบุคคลมี ๔ ขั้น
ผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ประจักษ์แจ้งสภาพพระนิพพานครั้งแรกเป็นพระโสดาบันบุคคล ดับความเห็นผิดและความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลาย เมื่อพระโสดาบันบุคคลเจริญปัญญาขึ้น รู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งนิพพานอีกครั้งหนึ่ง ดับความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างหยาบเป็นสกทาคามีบุคคล เมื่อพระสกทาคามีบุคคลเจริญปัญญาขึ้น รู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งนิพพานอีกครั้งหนึ่ง ดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ จึงดับโทสะเป็นพระอนาคามีบุคคล เมื่อพระอนาคามีบุคคลเจริญปัญญาขึ้น รู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งนิพพานอีกครั้งหนึ่ง ดับอกุศลธรรมที่เหลืออยู่ทั้งหมด เป็นพระอรหันต์ เมื่อพระอรหันต์ดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่เกิดอีกต่อไป.
----------------------------
อริยสัจจธรรม ๔ คือ
ทุกขอริยสัจจ์ สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป จึงเป็นสภาพที่เป็นทุกข์ คือ ไม่ควรที่ตะติดข้องเพลิดเพลิน
ทุกขสมุทยอริยสัจจ์ ตัณหา คือ โลภะ การพอใจติดข้อง เป็นสมุทัย คือ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ทุกขนิโรธอริยสัจจ์ พระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์ เพราะดับกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์ อริยมัคค์มีองค์ ๘ คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการอบรมเจริญปัญญา ให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์
--------------------------
ตัดลอกจากหนังสือ ปรมัตถธรรมสังเขป จิตตสังเขป และภาคผนวก
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์