Tuesday, June 25, 2013

ลักษณะของจิต (ตอนที่ ๔)


ไม่มีใครชอบขณะที่จิตขุ่นเคือง  กระวนกระวาย  กระสับกระส่าย  เศร้าโศก เดือดร้อน หงุดหงิด รำคาญใจ  แต่ชอบความสุขสนุกสนานเพลิดเพลิน  ซึ่งขณะที่สนุกสนานรื่นเริงนั้น  จิตเป็นอกุศล  เพราะเกิดร่วมกับโลภเจตสิก  ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง  ปรารถนาพอใจ  เพลิดเพลินในอารมณ์  การศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น  เพื่อให้สติปัฎฐาน (คือสติที่) ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฎและอบรมเจริญปัญญา โดยศึกษา คือ พิจารณาสังเกตจนรู้ชัดสภาพธรรมนั้น  ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า  สภาพธรรมใดเป็นกุศล  สภาพธรรมใดเป็นอกุศล  และสภาพธรรมใดไม่ใช่กุศล  ไม่ใช่อกุศล  ไม่ว่าอกุศลธรรมใด ๆ ขั้นหยาบหรือละเอียดก็เป็นอกุศลธรรมทั้งสิ้น ไม่ใช่เป็นอกุศลธรรมเฉพาะขณะที่โทสะเกิดเท่านั้น

บางท่านถามว่า  ทำอย่างไรจึงจะไม่โกรธ

สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา  โทสะก็เป็นอนัตตา  โทสะเกิดขึ้นเพราะเหตุเป็นปัจจัย  ผู้ดับความโกรธได้เป็นสมุจเฉท  โทสเจตสิกไม่เกิดอีกเลยนั้น  เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรม  ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีบุคคล

การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระอริยบุคคลมี ๔ ขั้น

ผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม  ประจักษ์แจ้งสภาพพระนิพพานครั้งแรกเป็นพระโสดาบันบุคคล  ดับความเห็นผิดและความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลาย  เมื่อพระโสดาบันบุคคลเจริญปัญญาขึ้น  รู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งนิพพานอีกครั้งหนึ่ง  ดับความพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น   รส  โผฏฐัพพะ  อย่างหยาบเป็นสกทาคามีบุคคล  เมื่อพระสกทาคามีบุคคลเจริญปัญญาขึ้น  รู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งนิพพานอีกครั้งหนึ่ง  ดับความยินดีพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฎฐัพพะ  จึงดับโทสะเป็นพระอนาคามีบุคคล  เมื่อพระอนาคามีบุคคลเจริญปัญญาขึ้น  รู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งนิพพานอีกครั้งหนึ่ง  ดับอกุศลธรรมที่เหลืออยู่ทั้งหมด  เป็นพระอรหันต์  เมื่อพระอรหันต์ดับขันธปรินิพพานแล้ว  ไม่เกิดอีกต่อไป.

----------------------------
อริยสัจจธรรม ๔ คือ

ทุกขอริยสัจจ์  สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง  เกิดขึ้นแล้วดับไป จึงเป็นสภาพที่เป็นทุกข์  คือ ไม่ควรที่ตะติดข้องเพลิดเพลิน

ทุกขสมุทยอริยสัจจ์  ตัณหา คือ  โลภะ  การพอใจติดข้อง เป็นสมุทัย  คือ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ทุกขนิโรธอริยสัจจ์  พระนิพพาน  เป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์  เพราะดับกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์


ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์  อริยมัคค์มีองค์ ๘ คือ  การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการอบรมเจริญปัญญา  ให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม  เป็นทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์

--------------------------

ตัดลอกจากหนังสือ  ปรมัตถธรรมสังเขป  จิตตสังเขป และภาคผนวก
โดย  อาจารย์สุจินต์  บริหารวนเขตต์