Sunday, May 1, 2011

ลมปราณสมาธิกับชีวิตประจำวัน





สวัสดีค่ะ  ท่านผู้อ่านทุกท่าน....ฉันได้หยุดการเขียนไปหลายวันทีเดียวเพราะมัวแต่วุ่นกับเรื่องส่วนตัว  วันนี้ว่างจากวุ่นก็ตั้งใจว่าจะเล่าเรื่องของเราต่อ  รออ่านกันหน่อยก็คงไม่บ่นนะคะ

เรื่องการฝึกพลังจิตก็เหมือนกับการเติมน้ำมันรถยนต์หรือการเติมอาหารให้กับจิต  จิตก็ต้องการอาหารเหมือนกันกาย  อาหารของจิตก็คืออารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ

สำหรับอารมณ์ที่เป็นอาหารของจิตเพื่อให้จิตมีพลังแข็งกล้าเป็นพลังบวกนั้น ก็คือคำ "ภาวนา" เช่น คำว่า "พุทโธ"  "อรหังสัมมา"  หรือ "พุทโธ ธัมโม สังโฆ" หรือคำอื่น ๆ ตามแต่ท่านจะเลือก
ใช้ภาวนา ถ้าใช้ภาวนาแล้วรู้สึกว่าจิตไม่สามารถสงบจากนิวรนณ์ได้  หรือว่าภาวนาไปแล้วท่านรู้สึกว่าอึดอัดที่หน้าอกหนักกายหนักใจวุ่นวายกว่าปกติ  ก็แสดงว่าจิตของท่านได้รับอาหารที่ไม่ถูกต้องกับจริตแล้วล่ะ

ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เลือกคำภาวนาใหม่ได้ค่ะ  เลือกจนกว่าจิตสามารถสงบจากอกุศลได้เป็นขณะ ๆ นั่นแหละ ร่างกายต้องการอาหารที่มีประโยชน์จึงจะแข็งแรง  จิตก็เช่นกัน  แต่อาหารของจิตเป็นนามธรรมต้องเติมพลังทุกวัน  และต้องเป็นอาหารที่มีพลังบวกจึงจะมีประสิทธภาพต่อการงาน

การฝึกลมปราณสมาธิเราสามารถฝึกได้ตลอดวันโดยไม่ต้องเลือกเวลาและสถานที่  สามารถฝึกได้ในทุก
อิริยาบถด้วย ฝึกแบบสบาย ๆ  ไม่ควรที่จะเพิ่มความทุกข์ให้กับจิตมากขึ้น เพราะตามปกติจิตที่ไม่เคยได้รับ
การขัดเกลามาก่อนเลย  เขาจะสะสม "อกุศล" มากกว่า "กุศล"   นับตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นก็เริ่มด้วยความติดข้อง ต้องการ  ปรารถนา ยินดี  พอใจ  ชอบโน้นนี่  ชังนี่นั่น  โกรธเคือง  ขัดข้อง  ขุ่นมัว  หงุดหงิด  ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ เบื่อหน่าย  ล้วนแต่อกุศลทั้งนั้น  แต่ก็ไม่เคยระลึกรูู้ว่าเป็นอกุศล  จิตสะสมอกุศลทั้งวัน

 เพราะฉะนั้น  ลองมาฝึกสมาธิลมปราณดูนะคะ  ท่านจะได้พบกับความแตกต่างของชีวิตเมื่อก่อน  กับชีวิตหลังการฝึกสมาธิลมปราณ  จะต่างกันอย่างไร ?

ประโยชน์ของลมปราณสมาธิมีมากทีเดียว  ถ้าท่านมีความเพียรหมั่นฝึกอย่างต่อเนื่องย่อมเกิดผล  การ
ฝึกลมปราณสมาธิเป็นการเจริญสมถะ น้อมจิตเข้ามาเพ่งอยู่ที่เหนือสะดือ  มีอารมณ์เดียวจนจิตเป็นสมาธิแน่วแน่ตั้งหมั่น  ถ้าจิตตั้งมั่นต่อเนื่องก็ถึงสภาวะปีติสุขได้  เมื่อใจมีความสงบสุขกายก็เป็นสุขไปด้วย จึงเป็นจิตและกายที่ควรแก่การงาน  แต่อย่าลืมพุทธพจน์ที่ว่า "ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา" ดังนั้นความสุขก็เป็นอนัตตา เช่นกัน

ความสุขเป็นเพียงสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนใด ๆ ทั้งสิ้น  พูดถึงประโยชน์ของลมปราณเท่าที่ฉันได้ประสบมากับตนเองก็มีหลายอย่าง บอกไว้ก่อนนะว่าอย่าเพ่งเชื่อฉันทันที่ที่ได้อ่าน  ท่านควรพิจารณาไตร่ตรองเหตุกับผลก่อนว่าตรงกันหรือไม่ แล้วจึงค่อยพิสูจน์ด้วยการลงมือปฏิบัติ  พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีเหตุมีผล เป็นศาสนาที่ว่าด้วยปัญญาซึ่งสามารถศึกษาและพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง  ประโยชน์จากการฝึกลมปราณที่ฉันได้ประสบกับตนเองก็คือ  หลังจากที่ได้ฝึกสมาธิลมปราณอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๑  เดือนเศษ ๆ  โรค SLE (โรคพุ่มพวง) ซึ่งเป็นโรคที่ฉันเป็นได้รับความทุกข์ทรมานมาเป็นเวลาสามสิบกว่าปีได้สงบลง  ร่างกายแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ  สามารถลดปริมาณยาลงได้  ฝึกทุกวันสม่ำเสมอวันละครึ่งชัวโมง เป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง  ปัจจุบันนี้โรคพุ่มพวงได้หายเงียบไปเลย   โรคภัยอื่น ๆ  ก็ไม่ค่อยเบียดเบียน เพราะอาศัยพลังลมปราณป้องกันได้  เมื่อก่อนเคยเจ็บป่วยด้วยโรคสารพัด  เดี๋ยวนี้อาศัยสมาธิลมปราณช่วยป้องกันและบำบัดได้ด้วย  ส่วนด้านจิตใจก็มีความสงบจากนิวรณ์มากกว่าสมัยที่ยังไม่ได้ฝึก

พลังลมปราณมีคุณประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันอย่างมากมาย  เวลาทำงานเหนื่อย ๆ  เวลาไม่สบายใจงุดหงิด  ฟุ้งซ่าน  รำคาญใจ  เวลากลัวผี  เวลาโกรธ  เวลาปวดศีรษะ  หรือเวลาคิดแก้ปัญหาไม่ออก ลมปราณช่วยได้ค่ะ  ลมปราณสามารถช่วยให้จิตใจสงบเยือกเย็น  เบาสบายขึ้น เพราะขณะนั้นจิตเป็นกุศล  สติระลึกรูู้อยูู่ที่ลมหายใจเข้า-ออก

หากท่านผู้อ่านอยากรู้จักลมปราณมากกว่านี้   โปรดรอติดตามตอนต่อไปนะคะ

                                                                                                                       ยังมีต่ออีกจ๊ะ...............
                                              


                                                            ...........................................