Sunday, August 5, 2012

แนวทางเจริญสติปัฏฐาน (ตอนที่ ๒)


                                                  
 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

แนวทางเจริญสติปัฏฐาน (ตอนที่๒)  

การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานจะต้องทำอย่างไร......สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือลักษณะของรูปธรรม ที่กำลังปรากฏขณะนี้  ต้องมีลักษณะของรูปธรรมปรากฏที่กายให้รู้  จึงจะเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน......เวลานี้มีกาย แต่ว่าหลงลืมสติ คือขณะนั้นไม่ได้ระลึกรู้ตรงลักษณะของรูปที่กาย  หรือไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามอย่างหนึ่งอย่างใด ที่กำลังปรากฏที่กาย นั่นก็คือหลงลืมสติ

ขณะนี้มีกายแล้ว  และก็มีรูปที่ประชุมรวมกันเป็นกาย  มีรูปหลายรูป  ไม่ได้มีเพียงรูปเดียว หรือกลุ่มเดียว เท่านั้น มีรูปเกิดอยู่ทั่วกายเยอะแยะ และก็กำลังเกิดดับ ทยอยกันเกิดทยอยกันดับในขณะนี้  เพราะฉะนั้น ในเวลาที่สติปัฏฐานเกิด สติระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กายขณะไหน....เช่น เวลานี้กำลังยืนอยู่ ก็รู้ว่ากำลังยืน  สติปัฏฐานเกิดหรือยัง......สติปัฏฐานยังไม่เกิด  ถ้าตอบไม่ได้เพราะว่ายังไม่แน่ใจ  อย่างนั้นก็ยังไม่รู้อะไรเลย  ยังไม่ต้องเจริญสติปัฏฐาน  อย่าเพิ่งรีบร้อนไปทำอะไร เพราะว่าสติปัฏฐานจะเกิดได้ต้องเข้าใจข้อปฏิบัติ  เมื่อมีความเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม  ก็จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรมตามความเป็นจริงได้  ตามที่ได้ศึกษาและเข้าใจ

ขอทบทวนอีกครั้ง....ขณะนี้เข้าใจว่า มีรูปทยอยกันเกิดทยอยกันดับ  ขณะที่รู้ว่ากำลังยืน  สติปัฏฐานยังไม่เกิด  เมื่อสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ที่กาย  ระลึกรู้อะไร......สติระลึกรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง  ที่ปรากฏที่กายเท่านั้น ไม่ใช่นึกคิดเอาเองว่ามี เย็น ร้อน อ่อน แข็ง....สภาพธรรมที่มีจริงไม่ต้องพูดก็รู้  ขณะนั้นต้องมีสภาพที่รู้แข็งด้วย  คือระลึกรู้ตรงสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏที่กายขณะนั้น  แม้ไม่พูดว่า "แข็ง" ก็รู้...... เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานจะระลึกรู้รูปแข็ง  หรือว่าจะระลึกรู้ลักษณะของนาม ซึ่งเป็นสภาพรู้ก็ได้  ระลึกอยู่เนื่อง ๆ  บ่อย ๆ  เพราะเหตุว่า ก่อนหน้านั้น ยึดถือว่าเป็นเรา ไม่ใช่เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม  จึงไม่ใช่สติปัฏฐาน....

การระลึกกายภายในกายภายนอกหมายถึงอย่างไร.....ก็หมายถึงกายของเราเอง และกายของคนอื่นก็มี  ทุกท่านก็คงจะเคยกระทบสัมผัสกายของคนอื่น  ก่อนหน้านั้นยังไม่เกิดสติปัฏฐาน ก็มีกายของเราและกายของคนอื่น  ยังยึดถือว่าเป็นกาย และยังยึดถือว่าเป็นกายคนอื่น  เมื่อสติปัฏฐานเกิด อย่าว่าแต่กายของคนอื่น  แม้กายของเราเองก็ไม่มี  มีแต่สภาพธรรมเท่านั้น  เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจได้ว่า  ที่เคยคิดเรื่องคนอื่น ลักษณะของปรมัตถธรรมจริง ๆ  เป็นเพียงรูปธรรมที่กระทบสัมผัสกับกายปสาทเท่านั้น  แล้วก็ดับไป  เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราหรือเขา รูปของใครก็ตาม เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สติปัฏฐานเกิดขึ้น เพื่อระลึกรู้ว่าไม่มีอะไรทั้งนั้น  นอกจากนามธรรมและรูปธรรมซึ่งกำลังเกิดแล้วก็ดับไป  ไม่ได้เป็นของใครเลย


จะระลึกรู้เวทนาของเราและเวทนาของผู้อื่นได้อย่างไร  ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐาน  ท่านเคยนึกถึงใจเขา ใจเรา อกเขา อกเราบ้างไหม  หรือว่ามีแต่ใจเราคนเดียว มีแต่ความรู้สึกของเราคนเดียว  ความรู้สึกของคนอื่นไม่มี  ก่อนสติปัฏฐานเกิด ก็มีคนอื่น มีใจคนอื่น  เพราะฉะนั้นเมื่อสติปัฏฐานเกิด ก็รู้ว่าไม่มีอะไรทั้งนั้น มีแต่ลักษณะของความรู้สึกของตนเอง ที่กำลังคิดเรื่องของคนอื่น  ถ้ายังไม่สามารถที่จะแยกความคิดออกจากปรมัตถธรรมได้  ก็เจริญสติปัฏฐานไม่ได้....

สติระลึกความรู้สึกไหวตึงก็เช่นกัน ไม่ใช่ไปทำอาการต่าง ๆ  แต่ให้ระลึกตรงลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปรกติ ตามความเป็นจริง  อย่างเช่น ปวดเมื่อยขณะนี้  ก็ระลึกตรงลักษณะรูปธรรมหรือนามธรรม  หรืออย่างไหวก็ระลึกได้.....ขณะนี้กำลังกระพริกตา ก็ระลึกตรงลักษณะรูปไหวหรือระลึกที่นามรู้ไหว  ที่จริงขณะนั้นมีธาตุลมเป็นประธาน  แต่ก็ไม่ต้องไปคิดถึงอะไรทั้งสิ้น สติปัฏฐาานเกิดระลึกรู้รูปธรรมหรือนามธรรมเท่านั้น  แต่ว่าปัญญาขั้นต้น  ยังไม่สามารถแยกขาดรูปธรรมออกจากนามธรรมได้  แต่จะต้องสติเกิดอีกบ่อย ๆ เนื่อง ๆ  จึงใช้คำว่า "อนุสติปัสสนา"  หรือว่าสติระลึกบ่อย ๆ เนือง ๆ นี้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทุกอย่างดับเร็ว  ทันทีที่สติระลึกรู้ รูปธรรมหรือนามธรรมเหล่านั้นก็ดับไปแล้ว  แต่ก็ยังมีปัจจัย ที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดปรากฏอีก  เช่น  แข็งก็มีปัจจัยที่จะให้ปรากฏอยู่ แต่ยังไม่ประจักษ์การดับไป เมื่อใดปัญญาสมบูรณ์ถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะที่เกิดดับ ไม่มีอะไรจะกีดกั้นการประจักษ์แจ้งของปัญญาได้เลย  แต่ต้องเกิดจากการที่สติระลึกได้เสียก่อน โดยไม่เลือกไม่เจาะจงว่าจะระลึกรูปใดหรือนามใด  แล้วศึกษาลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนั้น.


                                            ..................................... 

                                       
                                                 ขออนุโมทนาบุญค่ะ
















Friday, August 3, 2012

มนุษย์ติดต่อกับเทพได้ไหม

สวัสดีค่ะ  ท่านผู้อ่านทุกท่าน

ก่อนอื่นฉันต้องขอขอบคุณมาก ๆ  ทุกท่านได้ที่ติดตามอ่านบทความในบล็อกนี้มาตลอด  ถึงแม้จะไม่อ่านทุกเรื่อง ก็ไม่ว่ากันจ๊ะ  ต่างคนต่างก็มีโลภมูลจิตไม่เหมือนกัน คือมีความยินดีพอใจ ติดข้องต้องการในสิ่งแตกต่างกันไป แล้วแต่เหตุปัจจัย หรือจะเรียกว่านานาจิตตังก็ไม่ผิด....

วันนี้ฉันได้ตั้งคำถามเป็นหัวเรื่องไว้  ถ้าจะรอให้ท่านผู้อ่านตอบกัน  ฉันคงรอเก้อแน่ ๆ  เลยขอตอบเองดีกว่ามันจะง่ายกว่าน่ะ  ฉันคิดว่าหลายท่านคงจะสงสัยเหมือนกัน ว่ามนุษย์อย่างเรา ๆ นี่  สามารถที่จะสื่อติดต่อกับเทพหรือเทวดาได้ไหม  ขอตอบว่า "ได้" ค่ะ เรื่องเกี่ยวกับเทพนี่เป็นเรื่องที่ละเอียด  เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของนามธรรม  มนุษย์ไม่สามารถเห็นเทพได้ด้วยตาธรรมดา ต้องเป็นผู้ที่มี "ทิพย์จักษุ" จึงจะสามารถเห็นได้  แต่เทพสามารถเห็นมนุษย์ได้  เทพในชั้นสูงสามารถเห็นเทพในชั้นหรือภพภูมิต่ำกว่า ลงมาจนถึงโลกมนุษย์  เพราะเหตุว่าเทพชั้นสูงมีทิพย์จักษุที่ละเอียดและประณีตกว่าเทพในชั้นต่ำ ๆ  นอกจากนั้นยังมีฤทธิ์และพลังจิตมากกว่าเทพในภูมิต่ำกว่าอีกด้วย

การที่เราจะนึกถึงเทพในภูมิต่าง ๆ ซึ่งมองด้วยตาไม่เห็นทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีจริง  จะนึกคิดอย่างไร หรืออยากจะเห็นอยากจะพบก็เป็นเพียงแค่ความนึกคิดเท่านั้น  เพราะว่าการที่จะเห็นเทพได้  จะต้องเป็นผู้มีญาณวิเศษเท่านั้น  จึงจะสามารถติดต่อกับภพภูมิอื่นได้  และบุคคลนั้นก็จะต้องได้ฌานจิต ต้องมีความสามารถถึงขั้นรูปฌานและอรูปฌาน  แล้วก็ยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น  จะต้องฝึกหัดและเจริญสมาธิอย่างสม่ำเสมอให้เกิดความชำนาญในการเข้าฌานได้อย่างแคล่วคล่อง  ฝึกจนกระทั่งถึงขั้นได้ตาทิพย์หรือหูทิพย์ (ทิพยโสต) ด้วย

สำหรับผู้ที่อยากจะเห็นเทพหรือเทวดา  การที่จะสามารถเห็นได้ดังปรารถนานั้น  ก็จะต้องมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เห็นได้  ใช่ว่าอยู่ดี ๆ  เทพจะมาปรากฏให้เห็น จะนึกคิดเท่าไรเทพก็ไม่มาให้เห็น นั่นก็เป็นเรื่องของคนที่อยากจะเห็น  บางคนก็คิดหาวิธีกรรมต่าง ๆ ที่จะให้เทพมา  ที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องของเราที่จะไปขอร้องหรือเชิญให้เทพมา  ต้องเป็นเรื่องของเทพ  อย่างเรื่องของสานุสามเณรในพระไตรปิฏก  ท่านประพฤติผิด มีจิตใจที่กระวนกระวายกระสับกระส่าย ร้อนรุ่มอยากจะสึก  แม่ในอดีตชาติเป็นยักษ์ซึ่งมีฤทธิ์มาก มองเห็นสานุสามเณรด้วยทิพย์จักษุ  รู้ว่าลูกชายในอดีตชาติมีความเดือดร้อนใจ จึงคิดว่าควรจะกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการช่วยลูกชายในอดีตชาติของตน  เพื่อให้เลิกล้มความคิดที่จะสึก เธอจึงได้แสดงฤทธิ์ ด้วยการ "เข้าร่าง"  เหมือนเข้าร่างของสานุสามเณร   แต่ที่จริงแล้วเทพจะเข้าร่างคนไม่ได้เลย  เพราะเหตุว่าจิตต่างกัน  จิตจะเข้ามาซ้อนในจิตของผู้อื่นไม่ได้  แต่ว่าด้วยอำนาจและพลังของสมาธิ ก็สามารถทำให้มีกิริยาอาการที่เกิดทางกายปรากฏได้  เช่นทำให้คนนั้นมีอาการเป็นลมหมดแรงอย่างกระทันหัน บ้างก็มีการชัก  หรือจะมีอาการแปลก ๆ  อะไรก็แล้วแต่  หรือว่าจะมีเสียงพูดที่ผิดไปจากปกติ  ก็เป็นเรื่องแล้วแต่เทพจะกระทำ  ไม่ใช่เรื่องเราทำ  ไม่ใช่เรานึกและต้องเป็นเรื่องที่มีเหตุผลสมควรที่เทพจะลงมา  ถ้าไม่มีเหตุผลสมควร เทพก็ไม่มา  เราไม่มีอิทธิพลหรืออำนาจใด ๆ ที่จะบังคับเทพใ ห้ทำโน่นทำนี่ตามที่เราต้องการได้

บางคนบอกว่ามีเทพมาหาบ่อย ๆ นี่ก็ได้ฟังแล้วก็ควรจะต้องพิจารณาว่า สมควรแก่เหตุหรือไม่  บางคนเชื่อง่าย  พอได้ยินใครเล่าว่า มีเทวดามาหาเยอะแยะก็เชื่อแล้ว ไม่ได้คิดถึงเหตุว่า  เขาพูดเช่นนั้นได้อย่างไร มีสติปัญญาแค่ไหน  เขาผู้นั้นมีญาณวิเศษอะไร ที่จะทำให้ติดต่อหรือเห็นเทพได้  เพราะฉะนั้นฟังแล้วต้องพิจารณาด้วยว่า  สมควรแก่เหตุหรือไม่....มนุษย์ติดต่อกับเทพได้จริง  แต่ต้องเป็นผู้ที่ได้ฌานคือหมายถึงมีกำลังสมาธิแก่กล้านั่นเอง

ถ้าท่านผู้อ่านอยากจะเห็นเทพหรือเทวดา  ก็จะต้องเริ่มฝึกเจริญสมาธิอย่างต่อเนื่องเสียแต่เดี๋ยวนี้  ต้องมีขันติและวิริยะช่วยเกื้อหนุนอย่างสมดุลย์กัน  คุณธรรมทั้งสองนี้ มีความสำคัญต่อความสำเร็จในการกระทำกิจทั้งปวง  และการที่จะฝึกสมาธิจนถึงขั้นได้ฌานจิตนั้น ก็จะต้องอาศัยบารมีเก่าที่เคยได้สะสมมาแล้วด้วย  จึงจะถึงเป้าหมายได้  แต่อย่างไรก็ตามทุกคนมีการสะสมมาต่างกัน ความสามารถจึงต่างกันไปตามการสะสม.


                                         ...............................................