Tuesday, February 12, 2013

ลักษณะของจิต (ตอนที่ ๒)




ที่  "จิต"  ชื่อว่า  "มโน"  เพราะรู้อารมณ์....คำว่า  อารมฺมณ (อารมณ์)  หรือ อาลมฺพน  หมายถึงสิ่งที่จิตรู้  เมื่อจิตซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้เกิดขึ้น  สิ่งที่จิตกำลังรู้ในขณะนั้น  ชื่อว่า  "อารมณ์"

เสียงมีจริงไหม....เมื่อมีสิ่งที่แข็งกระทบกัน ก็เป็นปัจจัยให้เกิดเสียงขึ้น  แต่ถ้าในขณะนั้นจิตไม่เกิดขึ้นรู้เสียงนั้น  เสียงนั้นก็ไม่เป็นอารมณ์  ฉะนั้น  ไม่ว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย  แต่ขณะใดจิตไม่รู้สิ่งนั้น  สิ่งนั้นก็ไม่เป็นอารมณ์

ที่  "จิต"  ชื่อว่า  "หทัย"  เพราะมีความหมายว่า เป็นสภาวะอยู่ภายใน....จิตเป็นสภาพภายใน  เพราะเป็นสภาพรู้อารมณ์ที่ปรากฏ  อารมณ์เป็นสภาพธรรมภายนอก  เพราะเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้

ฉะนั้น  การศึกษาเรื่องจิตจึงเป็นการพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้  ทั้งภายในและภายนอก  จึงจะรู้ลักษณะของจิตได้....จิตมีจริง  แต่อยู่ที่ไหน  จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นภายใน  ในขณะที่เห็น  จิตไม่ได้อยู่ข้างนอก  สีสันวัณณะกำลังปรากฏภายนอก

การอบรมเจริญปัญญานั้น  ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง  ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง  ฉะนั้น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน  คือ ขณะใดที่เห็นแล้วระลึกได้ ไม่หลงลืมที่จะพิจารณา  ศึกษา สังเกต ค่อย ๆ รู้ขึ้นว่า สภาพเห็นเป็นสภาพรู้  เป็นธาตุรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง  สติสามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า สภาพที่กำลังได้ยินเสียง เป็นสภาพรู้  เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นภายใน  จึงยากที่จะพิจารณาให้รู้ได้  และสภาพที่ได้ยินเสียงนั้น ก็เกิดรู้เสียงที่กำลังปรากฏแล้วดับไปทันที  จิตซึ่งเป็นสภาพรู้นั้น  เกิดขึ้นแล้วดับไปรวดเร็วมาก  เมื่อเข้าใจถูกว่า จิตกำลังเห็นจิตกำลังได้ยิน  จิตกำลังได้กลิ่น  จิตกำลังลิ้มรส  จิตกำลังคิดนึก เป็นต้น  สติปัฏฐานก็ย่อมเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้  เป็นธาตุรู้ในขณะนั้น ๆ ได้

ฉะนั้น  การอบรมเจริญปัญญาจึงสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงกับพระธรรม  ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจนประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรม  ดับกิเลสได้ เป็นพระอริยบุคคล คือ พระโสดาบัน  พระสกทาคามี  พระอนาคามี  พระอรหันต์ ตามลำดับ

                                                 
                                                       ....................................................