Saturday, November 3, 2012

แนวทางเจริญสติปัฏฐาน (ตอนที่ ๔)



  
                       
 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

จิต  เป็นนามธรรม  เป็นธาตุรู้  เป็นใหญ่  เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์  จิตเกิดขึ้นต้องมีอารมณ์ให้จิตรู้
จิตเกิดขึ้นทุกขณะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย  เจตสิกเป็นนามธรรม  เจตสิกรู้อารมณ์เดียวกับจิต เจตสิกเกิดพร้อมกับจิตและดับพร้อมกับจิต

ผู้ที่เจริญ "จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน" ไม่ใช่รู้ว่า  กำลังพอใจ  หรือกำลังโกรธเท่านั้น  แต่รู้ว่า สภาพ "พอใจ" หรือ "โกรธ" นั้น เป็นเพียง "นามธรรม"  ชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป...... สติเป็นเจตสิกธรรมที่ทำหน้าที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมต่าง ๆ  เช่น  พอสติระลึกรู้ลักษณะของ "โทสมูลจิต"  ว่าเป็นแต่เพียง "นามธรรม" ชนิดหนึ่ง โทสมูลจิตก็ดับไปอย่างรวดเร็ว  แล้วสติก็ระลึกรู้ลักษณะของจิตประเภทอื่น ๆ ต่อไป

สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม  หรือระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรม  ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ    สติเป็นอนัตตา  เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย  ไม่มีใครบังคับให้สติเกิดขึ้นได้ดังปรารถนา  ผู้เจริญสติเองเท่านั้น ที่จะรู้ได้ว่า ได้รู้ลักษณะของนามอะไร  และรู้เพิ่มขึ้นมากขึ้นจนเป็นปัญญาที่สมบูรณ์  สติเกิดเองไม่ได้ถ้าไม่เคยฟังเรื่องสติปัฏฐานมาก่อนเลย

ผู้เจริญสติจะรู้ได้ว่าปัญญา (ความเข้าใจ) นั้นเกิดขึ้นเพราะเจริญเหตุอย่างไร ?  อยู่ดี ๆ ปัญญาเกิดเองไม่ได้  ก่อนที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม  ปัญญาก็จะต้องเกิดตามลำดับขั้น....การรู้ลักษณะของจิตว่าเป็นจิตประเภทใด สติจะระลึกรู้เพียงลักษณะของจิตที่เป็นสภาพรู้เท่านั้น  ไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นโโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต  ขณะนั้นจะรู้ว่าเป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น  เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาขั้นต้น

                                         
                                      ขออนุโมทนาบุญและขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์