Wednesday, December 11, 2013

การจำแนกจิต (๑)


จิต  ๘๙  ดวง  จำแนกดดยประเภทของภูมิ  คือ  ระดับขั้นของจิตเป็น  ๔  ภูมิ  คือ

กามาวจรภูมิ ๑   

รูปาวจรภูมิ ๑   

อรูปาวจรภูมิ ๑   

โลกุตตรภูมิ ๑

จิตที่เป็นกามาวจรภูมิ  ได้แก่  กามาวจรจิต  ๕๔  ดวง  ในอัฏฐสาลินี  จิตตุปปาทกัณฑ์  อธิบายความหมายของกามาวจรจิต  ๔  นัย  มีข้อความว่า

นัยที่ ๑  บทว่า  กามาวจรํ  ได้แก่  จิต  อันนับเนื่องในกามาวจรธรรมทั้งหลาย  คือ  เป็นจิตที่อยู่ในขั้นของกาม  (คำเต็ม คือ  กามาวจร  แต่ตัดบทหลังออกเหลือเพียงกามเท่านั้นได้)  โดยท่องเที่ยวอยู่ในกาม  คือ
รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  จึงเป็นจิตขั้นกาม  เป็นกามาวจรจิต

ทุกขณะในชีวิตประจำวันเป็นกามาวจรจิต  เมื่อไม่ใช่จิตระดับอื่นที่ละเอียดกว่า  ประณีตกว่าขั้นกาม  เมื่อใดที่อบรมเจริญกุศลจิตทีสงบขึ้นโดยมีรูปเป็นอารมณ์  จนจิตสงบมั่นคงขึ้น  ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ  เป็นฌานจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์  ขณะนั้นก็เป็นูปาวจรภูมิ  หรือรูปาวจรจิต  พ้นจากระดับของกาม  และเมื่อจิตสงบมั่นคงกว่านั้นอีก  โดยเป็นจิตที่สงบแนบแน่นในอารมณ์ที่พ้นจากรูป  ก็เป็นอรูปาวจรจิต  และจิตที่ละเอียดประณีตกว่าอรูปาวจรจิต  คือโลกุตตรจิต  ซึ่งประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน  จึงเป็นโลกุตตรภูมิ  ฉะนั้น  จิตจึงต่างกันโดยภูมิ  คือ  จิต  ๘๙  จำแนกเป็น

กามาวจรจิต          ๕๔       ดวง

รูปาวจรจิต             ๑๕       ดวง

อรูปาวจรจิต          ๑๒        ดวง

โลกุตตรจิต             ๘         ดวง

ขณะใดที่ไม่ใช่รูปาวจรจิต  อรูปาวจรจิต  โลกุตตรจิต  ขณะนั้นต้องเป็นกามาวจรจิต

ชื่อว่า  "กาม"  เพราะอรรถว่า  อันสัตว์ใคร่  กามมี  ๒  อย่าง คือ  กิเลสกาม๑   วัตถุกาม๑

กิเลสกาม  ได้แก่  ฉันทราคะ  คือ  โลภเจตสิก  ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ยินดีพอใจติดข้องในอารมณ์

วัตถุกาม  คือ  สภาพธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดี  ความพอใจ  ความปรารถนา  ฉะนั้น วัตถุกาม  ได้แก่  วัฏฏะ  ซึ่งเป็นไปในภูมิทั้ง ๓ คือ  ทั้งกามภูม  รูปภูมิ  และอรูปภูมิ  เพราะไม่พ้นไปจากการเป็นวัตถุที่ยินดีพอใจของกิเลสกาม  ตราบใดที่ยังดับโลภะไม่ได้ก็ยังมีวัตถุกาม  คือ  สภาพธรรมซึ่งเป็นที่ยินดีพอใจของกิเลสกาม


.......................................