Tuesday, June 28, 2011

พลังศรัทธา

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต  ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
อะระหะโต   ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส
สัมมาสัมพุทธัสสะ   ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

พลัง หมายถึง  พละกำลัง  และคำว่า ศรัทธา หมายถึงความเชื่อ, ความเลื่อมใส
"ศรัทธา" เป็นนามธรรม  เป็นเจตสิก เป็นธรรมปรุงแต่งจิต (สังขารขันธ์) ศรัทธาประกอบด้วยปัญญา กับศรัทธาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ๆ  คือความเข้าใจตามความเป็นจริงของธรรมทั้งหลาย  ที่เกิดปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายและทางใจ เดี๋ยวนี้ขณะนี้ ว่าไม่ใช่ตัวตน  สัตว์ บุคคล ไม่ใช่เราตัวเรา  เป็นเพียงธรรมะที่เกิดขึ้น แล้วดับหมดไม่เหลือ  เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนา  ย่อมไม่มีความสงสัยในพระธรรมของพระศาสดา  เมื่อมีพลังศรัทธาแก่กล้า ย่อมเป็นผู้ยินดีและปรารถนา "ความเพียร" (วิริยะ) เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย  เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นมีขึ้น เพื่อยังกุศลธรรมที่มีอยู่ให้เจริญยิ่ง ๆ  เมื่อความเพียรแก่กล้า ย่อมเป็นปัจจัยให้ "สติ" เกิดระลึกรู้สิ่งที่ทำ คำที่พูดแม้ผ่านมานานแล้วก็ยังระลึกได้  เพียรระลึกรู้สภาพธรรมทั้งหลาย  ที่เกิดและดับไปตามกฏพระไตรลักษณ์อยู่เนื่อง ๆ   พลังสติในที่นี้หมายถึงสัมมาสติ  เมื่อมีพลังแก่กล้า  "พลังสมาธิ" ย่อมเกิดได้    

สมาธิ  คือจิตที่ตั้งมั่นแน่วแน่  สงบจากนิวรณ์ธรรมทั้งปวง จิตไม่แล่นไหล  ไปตามกระแสอกุศลธรรมทั้งหลาย  ที่มากระทบทางทวารทั้ง ๖  จิตมีความสงบจากกิเลสตัณหา สมาธิในที่นี้หมายถึง "สัมมาสมาธิ" เป็นความสงบของจิต  ที่ประกอบด้วยความเห็นถูก จิตมีความสะอาด  สว่าง  แช่มชื่นเบิกบาน  เกิด "พลังสมาธิ" แก่กล้าเป็นปัจจัยให้เกิด "ปัญญา" รู้เห็นตามความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ  ที่เกิดดับไม่กลับมาอีก  เป็นเพียงสภาวะธรรม  ที่ปรากฏขึ้นเพื่อให้ สติระลึกรู้เท่านั้นเอง  ท่านผู้ใดมีพลังทั้งหลายดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้  ย่อมจะมีชีวิตอยู่เป็นสุขทั้งคืนวันและมีสุคติเป็นที่ไป

การที่จะมีพลังต่าง ๆ  ชนิดแก่กล้าได้นั้น  ต้องอาศัยคุณธรรมสำคัญคุณธรรมหนึ่งคือ "ขันติ" ความอดทนนำมาซึ่งความสำเร็จทั้งปวงได้  อยู่ดี ๆ  สติปัญญาย่อมไม่เกิดแน่  ต้องเริ่มด้วยมี "พลังศรัทธา" เชื่อและเลื่อมใสในพระธรรม คือคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ก็ต้องหมั่นสดับฟังพระธรรมอยู่เนื่อง ๆเพื่อสะสมความเข้าใจ  คือสะสมปัญญาขั้นการฟังก่อน  จนกว่าการสะสมปัญญาของจิตมากขึ้น ทีละน้อย ๆ ในขั้นต่อไปก็คือ  ขั้นพิจารณาไตร่ตรองธรรมะ  และในขั้นปัญญาสูงสูดก็คือขั้นภาวนา เพื่อความรู้แจ้งแห่งทุกข์ทั้งปวง  เพื่อการออกจากสังสารวัฎเนิ่นนาน  ขอท่านผู้อ่านจงเจริญในพระธรรมเถิด