Thursday, December 26, 2013

ภูมิ หมายถึงอะไร ? (๑)


ภูมิ  หมายถึง  โอกาสโลกซึ่งเป็นสถานที่เกิดของสัตวโลกนั้น  มีทั้งหมด ๓๑  ภูมิ  ตามระดับขั้นของจิต  คือ กามภูมิ ๑๑ ภูมิ  รูปพรหมมี ๑๖ ภูมิ  อรูปพรหมภูมิมี ๔ ภูมิ  รวมโอกาสโลกซึ่งเป็นสถานที่เกิดของสัตว์โลกทั้งหมดมี  ๓๑ ภูมิ  คือ  ๓๑  ระดับขั้น  ซึ่งสถานที่เกิดแต่ละขั้นนั้นมีมากกว่า  คือ  แม้แต่ภูมิของมนุษย์ก็ไม่ได้มีแต่โลกนี้โลกเดียว  ยังมีโลกมนุษย์อื่น ๆ  อีกด้วย

กามภูมิ ๑๑  ภูมินั้น  ได้แก่  อบายภูมิ ๔    มนุษย์ ๑  และสวรรค์ ๖  ซึ่งจะขอกล่าวเพียงย่อ ๆ  คือ

อบายภูมิ ๔  ได้แก่  นรก๑  สัตว์ดิรัจฉาน ๑    ปิตติวิสัย (เปรต)๑    อสุรกาย ๑

นรกไม่ใช่เพียงแต่แห่งเดียวหรือขุมเดียว  นรกขุมใหญ่ ๆ  มีหลายขุม  เช่น  สัญชวนรก  กาฬสุตนรก
สังฆาตนรก  โรรุวนรก  มหาโรรุวนรก  ตาปนนรก  มหาตาปนนรก  และอเวจีนรก  นอกจากนั้นนรกใหญ่ก็ยังมีนรกย่อย ๆ  ซึ่งในพระไตรปิฎกก็ไม่ได้กล่าวถึงโดยละเอียดมากนัก  เพราะจุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงภูมิต่าง ๆ  ก็เพื่อทรงแสดงให้เห็นเหตุและผลของกุศลกรรมและอกุศลกรรม  สิ่งใดซึ่งไม่สามารถที่เห็นชัดประจักษ์แจ้งด้วยตา  ก็ย่อมไม่เป็นสิ่งที่ควรแสดงเท่ากับสภาพที่สามารถจะพิสูจน์โดยอบรมเจริญปัญญาให้รู้ได้

การเกิดในอบายภูมิ ๔  นั้น  ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมหนักก็เกิดในนรก  ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมที่หนักมากก็เกิดในมหานรกที่สุดจะทรมาน  คือ  อเวจีนรก  และเมื่อพ้นจากนรกขุมใหญ่ ๆ  แล้วก็เกิดในนรกขุมย่อย ๆ  อีก  เมื่อยังไม่หมดผลของอกุศลกรรม  ขณะที่กระทำอกุศลกรรมนั้นไม่คิดเลยว่า  ภูมินรกรออยู่แล้วข้างหน้า  แต่ว่ายังไปไม่ถึง  เพราะว่ายังอยู่ในโลกนี้  ตราบใดที่ยังไม่พ้นจากสภาพของการเป็นบุคคลในโลกนี้  ก็ยังไม่ไปสู่ภูมิอื่น  แม้ว่าเหตุคืออกุศลกรรมมีแล้ว  เมื่อทำอกุศสลกรรมแล้วย่อมเป็นปัจจัยให้ไปสู่อบายภูมิ  ภูมิใดภูมิหนึ่งเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว

ผลของอกุศลกรรมที่น้อยกว่านั้น  ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอบายภูมิอื่น  เช่น  เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน  จะเห็นได้ว่า  สัตว์ดิรัจฉานนั้นมีรูปร่างประหลาด ๆ  ต่าง ๆ  นานา  บางชนิดมีขามาก  บางชนิดมีขาน้อย  บางชนิดไม่มีขาเลย  มีปีกบ้าง  ไม่มีปีกบ้าง  อยู่ในน้ำบ้าง  อยู่บนบกบ้าง  มีรูปร่างลักษณะต่าง ๆ  มากมาย  ตามความวิจิตรของจิต  มนุษย์มีตา  หู  จมูก  ลิ้น  กายคล้ายกัน  แต่ผิวพรรณวัณณะ  ความสูงต่ำก็ยังวิจิตรต่าง ๆ  กัน  ไม่เหมือนกันเลย  ไม่ว่าจำนวนคนในโลกนี้จะมากสักเท่าไรก็ตาม  รวมทั้งในอดีต  ปัจจุบันและอนาคตด้วย  แต่สัตว์ดิรัจฉานก็ยิ่งวิจิตรต่างกันมากกว่ามนุษย์  ทั้งสัตว์น้ำ  สัตว์บก  และสัตว์ที่บินได้ ซึ่งก็ย่อมเป็นไปตามกรรม  อันเป็นเหตุให้มีรูปร่างวิจิตรนั้น ๆ

ผลของอกุศลกรรมที่น้อยกว่านั้นเป็นปัจจัยให้เกิดในภูมิของ เปรต ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า  ปิตติวิสัย เปรตทรมานด้วยความหิวอยู่เสมอ  และภูมิของเปรตก็วิจิตรต่าง ๆ  กันมาก

มนุษย์ทุกคนมีโรคประจำตัวประจำวัน  คือ  โรคหิว  ซึ่งจะว่าไม่มีโรคไม่ได้  เพราะความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง  ลองหิวมากจะรู้สึก  ถ้าหิวนิดหน่อยแล้วรับประทานอาหาร  ซึงถ้าเป็นอาหารอร่อย ๆ  ก็เลยลืมว่า  แท้จริงนั้นความหิวไม่ใช่ความสบายกายเลย  เป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไขบรรเทาให้หมดไป  คนที่หิวมากเมื่อไม่ได้รับประทานอาหารก็จะรู้สึกสภาพที่เป็นความทุกข์ของความหิว  ว่าถ้าหิวมาก ๆ  กว่านั้นจะเป็นอย่างไร


การเกิดเป็นเปรตเป็นผลของอกุศลกรรม  เปรตใดอนุโมทนากุศลที่บุคคลอื่นกระทำแล้วอุทิศไปให้  กุศลจิตที่อนุโมทนานั้น  เป็นปัจจัยให้ได้อาหารที่เหมาะสมแก่ภูมิของตนบริโภค  หรืออาจจะพ้นสภาพของเปรต  โดยจุติแล้วปฏิสนธิในภูมิอื่น  เมื่อหมดผลของกรรมที่ทำให้เป็นเปรตต่อไป

อบายภูมิ  อีกภูมิหนึ่ง  คือ  อสุรกาย  การเกิดเป็นอสุรกายเป็นผลของอกุศลกรรมที่เบากว่าอกุศลกรรมอื่น  เพราะผู้ที่เกิดเป็นอสุรกายนั้น  ไม่มีความรื่นเริงใด ๆ  อย่างในภูมิมนุษย์และสวรรค์  ในภูมิมนุษย์มีหนังสือพิมพ์อ่าน  มีหนังละครดู  มีเพลงฟัง  แต่ในอสุรกายภูมิไม่สามารถที่จะแสวงหาความเพลิดเพลินสนุกสนานได้เหมือนในสุคติภูมิ

เมื่ออกุศลกรรมมีต่างกัน  ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดย่อมต่างกันออกไปตามเหตุ  คือ  อกุศลกรรมนั้น ๆ


...............................


จากหนังสือ  ปรมัตถธรรมสังเขป
จิตตสังเขป  และภาคผนวก
โดย...สุจินต์  บริหารวนเขตต์






Sunday, December 22, 2013

การจำแนกจิต (๓)

กามาวจรจิต  คือ  จิตขั้นกามที่ท่องเที่ยวไปในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  เป็นจิตที่ยินดีพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  เป็นจิตที่ไม่พ้นจากรูป  เสียง   กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  บางท่านก็บอกว่าทำบุญแล้วอยากจะเกิดในสวรรค์  สวรรค์ก็ไม่พ้นไปจากรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  แต่เป็นกามอารมณ์ที่ประณีกว่ากามอารมณ์ในโลกมนุษย์

ฉะนั้น  ตั้งแต่เกิดจนตาย  ขณะใดที่จิตสงบไม่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ  คือ  ไม่เป็นฌานจิต  และไม่เป็นโลกุตตรจิต  ขณะนั้นก็เป็นกามาวจรจิต  ขณะหลับและตื่น  เห็น  ได้ยิน  ได้กลิ่น  ลิ้มรส  รู้สิ่งกระทบสัมผัส  คิดนึกต่าง ๆ  นั้น  ไม่ใช่สัตว์  บุคคล  ตัวตนเลย  แต่เป็นจิตขั้นกาม  คือ  กามาวจรจิตทั้งสิ้น

ผู้ที่ไม่ใช่พระอนาคามีและพระอรหันต์นั้น  ยังมีความพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  แสดงว่าความพอใจในกามอารมณ์ที่ปรากฏทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  นั้นละได้ยากเพียงใด  และถึงแม้ว่าจะอบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌานจิต  และเกิดในพรหมโลก  ก็ยังละความยินดีพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น  รสโผฏฐัพพะไม่ได้เป็นสมุขเฉท

เมื่อยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคลก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก  คือ  เป็นผู้ยินดีพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  ทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ฉะนั้น  จึงไม่ควรประะมาทกิเลส  และจะต้องเข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง  ตามเหตุผล  จึงจะสามารถอบรมเจริญปัญญาที่ดับกิเลสได้จริง  ๆ  เป็นสมุจเฉท

บทว่า  กามาวจร  ได้แก่  จิตอันนับเนื่องในกามาวจรธรรม  ข้อความในอัฏฐสาลินีแสดงว่า  ภูมิของกามาวจรธรรมนั้น  เบื้องต่ำตั้งแต่อเวจีนรกขึ้นมา  เบื้องบนตั้งแต่เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตีลงมา  ภูมิเหล่านี้เป็นภูมิของกามอารมณ์ทั้งหมด

ความหมายของ กามาวจรจิต  แบ่งออกเป็น  ๔  นัย  ดังนี้

นัยที่ ๑   เป็นจิตขั้นกาม  ไม่พ้นไปจากกาม

นัยที่ ๒   เป็นจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามภูมิ  ๑๑  คือ  อบายภูมิ  ๔,    มนุษย์  ๑  และสวรรค์ ๖

นัยที่ ๓   ชื่อว่า  กามาวจรจิต  เพราะว่า  ย่อมท่องเที่ยวไปด้วยสามารถแห่งการกระทำให้เป็นอารมณ์
คือ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฎฐัพพะ  ย่อมท่องเที่ยวไปในจิตนั้น  ๆ  ด้วยสามารถแห่งการกระทำให้เป็นอารมณ์  แม้เพราะเหตุนั้น ๆ  ชื่อ  กามาวจร

ถ้าจะให้เข้าใจง่ายก็  คือ  จิตใดก็ตามที่เกี่ยวเนื่องเป็นไปในกาม  คือ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์  จิตนั้นเป็นกามาวจร

นัยที่ ๔   อีกอย่างหนึ่ง  จิตใดย่อมยังปฏิสนธิให้ท่องเที่ยวไปในกาม  กล่าวคือ  กามภพ  (อบายภูมิ ๔  มนุษย์ ๑  สวรรค์๖)  เหตุนั้น  จิตนั้นชื่อว่า  กามาวจร

ทุกท่านที่อยู่ในโลกมนุษย์นี้  เพราะกามาวจรจิต  ทำให้กามปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในภูมิมนุษย์  เป็นกามภูมิ

ผู้ที่เจริญสมถภาวนาจนจิตสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิเป็นรูปฌานจิต  หรืออรูปฌานจิต  ถ้าฌานจิตไม่เสื่อม  และฌานจิตเกิดก่อนจุติจิต  ฌานกุศลจิตนั้นไม่เป็นปัจจัยในเกิดในโลกนี้  แต่เป็นปัจจัยให้เกิดในรูปพรหมภูมิ  หรือในอรูปพรหมภูมิตามขั้นของฌานนั้น ๆ  การเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกามาวจรกุศล  คือ  ทาน  ศีล  การอบรมสมถภาวนา  การอบรมเจริญสติปัฏฐาน  ซึ่งยังไม่พ้นไปจากกาม  ฉะนั้น  จึงทำให้ปฏิสนธิในกามภูมิ

เมื่อจิตต่างกันเป็นประเภท ๆ  และจิตแต่ละประเภทนั้นก็วิจิตต่างกันมาก  ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของสัตวโลกก็ต้องต่างกันไป  ไม่ใช่มีแต่มนุสสภูมิ  คือ โลกนี้โลกเดียว  และแม้ว่าจะเป็นกามวจรกุศลกำลังของศรัทธา ปัญญาและสัมปยุตตธรรม  คือ  เจตสิกทั้งหลายที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น  ก็วิจิตรต่างกันมาก  จึงจำแนกให้ได้รับผล  คือ  เกิดในสุคติภูมิต่าง ๆ  ไม่ใช่แต่ในภูมิมนุษย์เท่านั้น

สำหรับอกุศลกรรมก็เช่นเดียวกัน  ขณะที่ทำอกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น  ถ้าสังเกตจะรู้ความแตกต่างกันของอกุศลกรรม  ว่่าหนักเบาด้วยอกุศลธรรมเพียงไร  บางครั้งประกอบด้วยความพยาบาทมาก บางครั้งก็ไม่ได้ประกอบด้วยความพยาบาทรุนแรง  บางครั้งก็ขาดความเพียร  ไม่ได้มีวิริยะอุตสาหะที่จะทำร้ายเบียดเบียน  แต่เป็นการกระทำซึ่งประกอบด้วยเจตนาเพียงเล็กน้อยและสัตว์เล็ก ๆ  นั้นก็ตายลง  เมื่อแต่ละกรรมที่ได้กระทำไปนั้น  ประกอบด้วยสัมปยุตตธรรม  คือ  เจตสิกขั้นต่าง ๆ  อกุศลกรรมนั้น  ก็เป็นปัจจัยจำแนกให้อกุศลวิบากจิต  ทำกิจปฏิสนธิ  คือ  เกิดในอบายภูมิต่าง ๆ  ๔  ภูมิ


............................









Thursday, December 12, 2013

การจำแนกจิต (๒)

กามาวจรจิตซึ่งยินดีพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะนั้นเหนียวแน่นมาก  แม้ว่ารูปจะปรากฏเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อยเหลือเกิน  คือ  ชั่วขณะที่กระทบจักขุปสาท  คือ  ตา    เสียงก็ปรากฏเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อยเหลือเกิน  คือ  ชั่วขณะที่กระทบกับโสตปสาท  กลิ่น  รส  และโผฏฐัพพะ  ก็เช่นเดียวกัน  ล้วนเป็นปริตตธรรม  คือ  เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเพียงเล็กน้อยแล้วก็ดับไป  แต่จิตก็ยินดีพอใจติดข้องในปริตตธรรมนั้นอยู่เสมอ  เพราะการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของปริตตธรรมนั้น ๆ  จึงดูเสมือนไม่ดับไป

ความเพลิดเพลินยินดีพอใจในกามอารมณ์  คือ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะไม่หมดสิ้น  แม้ว่ารูป   เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะนั้น ๆ  จะดับไปแล้ว  แต่รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะอื่น ๆ  ก็เกิดสืบต่อ ทำให้เกิดความหลงติดยินดีพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น  ฯลฯ  สืบต่อกันอยู่เรื่อย ๆ  เมื่อเห็นรูปใดก็ตาม  ซึ่งเป็นที่พอใจแล้ว  ก็อยากจะเห็นอีกบ่อย ๆ   เมื่อได้ยินเสียงที่พอใจแล้ว  ก็อยากได้ยินเสียงนั้นอีก  กลิ่น รส  โผฏฐัพพะก็เช่นเดียวกัน  เมื่อบริโภครสใดที่พอใจแล้ว  ก็อยากบริโภครสนั้นซ้ำ ๆ  อีก  ความยินดีพอใจติดข้องในรูป  เสียง  กลิ้น  รส  โผฏฐัพพะ  เกิดขึ้นเป็นประจำทุกวัน  ซ้ำแล้วซ้ำอีกทางตา  หู  จมูก ลิ้น กาย  ใจนั่นเอง

เมื่อชอบสิ่งใดก็อยากจะเห็นสิ่งนั้นอยู่ตลอดเวลาได้ไหม  ไม่ได้  เพราะสังขารธรรมทั้งหลาย  เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา  เมื่อรสอร่อยเกิดขึ้นปรากฏ  ความพอใจก็อาศัยลิ้นเกิดขึ้น  ขณะนั้นความพอใจทางตา  หู  จมูก  กายไม่เกิดขึ้น  เมื่อเกิดความพอใจในกลิ่นที่ปรากฏ  ขณะนั้นความพอใจทางตา  หู  ลิ้น กาย  ก็ไม่เกิด  เพราะจิตเกิดขึ้นทีละขณะเท่านั้น  จะมีจิต ๒ ดวงเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้เลย  ทุกคนพอใจในสิ่งต่าง ๆ  ที่ปรากฏสลับกันทางตาบ้าง  ทางหูบ้าง  ทางจมูกบ้าง  ทางลิ้นบ้าง  ทางกายบ้าง  ทางใจบ้าง  ไม่ใช่พอใจเฉพาะในสีเดียว  เสียงเดียว  กลิ่นเดียว  รสเดียว  และโผฏฐัพพะเดียวเท่านั้น  ทั้งนี้เพราะความพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะสะสมสืบต่ออยู่เรื่อย  ๆ  ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน  และต่อไปในอนาคต

ฉะนั้น  กามาวจรจิต  คือ  จิตขั้นกามที่ท่องเที่ยวไปในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  เป็นจิตที่ยินดีพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  เป็นจิตที่ไม่พ้นจากรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  บางท่านก็บอกว่าทำบุญแล้วอยากจะเกิดในสวรรค์  สวรรค์ก็ไม่พ้นไปจากรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  แต่เป็นกามอารมณ์ที่ประณีตกว่ากามอารมณ์ในโลกมนุษย์

เพราะฉะนั้น  ตั้งแต่เกิดจนตาย  ขณะใดที่จิตสงบไม่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ  คือ  ไม่เป็นฌานจิต  และไม่เป็นโลกุตตรจิต  ขณะนั้นก็เป็นกามาวจรจิต  ขณะหลับและตื่น  เห็น  ได้ยิน  ได้กลิ่น  ลิ้มรส  รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส  คิดนึกต่าง ๆ  นั้น  ไม่ใช่สัตว์  บุคคล  ตัวตนเลย  แต่เป็นจิตขั้นกาม  คือ  กามาวจรจิตทั้งสิ้น

ผู้ที่ไม่ใช่พระอนาคามีและพระอรหันต์นั้น  ยังมีความพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  แสดงว่าความพอใจในกามอารมณ์ที่ปรากฏทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  นั้นละได้ยากเพียงใด  และถึงแม้ว่าจะอบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌานจิต  และเกิดในพรหมโลก  ก็ยังละความยินดี  พอใจ  ในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะไม่ได้เป็นสมุจเฉท  เมื่อยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล   ก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก  คือ  เป็นผู้ยินดีพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  ทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ฉะนั้น  จึงไม่ควรประมาทกิเลส  และจะต้องเข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง  ตามเหตุผล  จึงจะสามารถอบรมเจริญปัญญาที่ดับกิเลสได้จริง ๆ  เป็นสมุจเฉท


.......................................



  

Wednesday, December 11, 2013

การจำแนกจิต (๑)


จิต  ๘๙  ดวง  จำแนกดดยประเภทของภูมิ  คือ  ระดับขั้นของจิตเป็น  ๔  ภูมิ  คือ

กามาวจรภูมิ ๑   

รูปาวจรภูมิ ๑   

อรูปาวจรภูมิ ๑   

โลกุตตรภูมิ ๑

จิตที่เป็นกามาวจรภูมิ  ได้แก่  กามาวจรจิต  ๕๔  ดวง  ในอัฏฐสาลินี  จิตตุปปาทกัณฑ์  อธิบายความหมายของกามาวจรจิต  ๔  นัย  มีข้อความว่า

นัยที่ ๑  บทว่า  กามาวจรํ  ได้แก่  จิต  อันนับเนื่องในกามาวจรธรรมทั้งหลาย  คือ  เป็นจิตที่อยู่ในขั้นของกาม  (คำเต็ม คือ  กามาวจร  แต่ตัดบทหลังออกเหลือเพียงกามเท่านั้นได้)  โดยท่องเที่ยวอยู่ในกาม  คือ
รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  จึงเป็นจิตขั้นกาม  เป็นกามาวจรจิต

ทุกขณะในชีวิตประจำวันเป็นกามาวจรจิต  เมื่อไม่ใช่จิตระดับอื่นที่ละเอียดกว่า  ประณีตกว่าขั้นกาม  เมื่อใดที่อบรมเจริญกุศลจิตทีสงบขึ้นโดยมีรูปเป็นอารมณ์  จนจิตสงบมั่นคงขึ้น  ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ  เป็นฌานจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์  ขณะนั้นก็เป็นูปาวจรภูมิ  หรือรูปาวจรจิต  พ้นจากระดับของกาม  และเมื่อจิตสงบมั่นคงกว่านั้นอีก  โดยเป็นจิตที่สงบแนบแน่นในอารมณ์ที่พ้นจากรูป  ก็เป็นอรูปาวจรจิต  และจิตที่ละเอียดประณีตกว่าอรูปาวจรจิต  คือโลกุตตรจิต  ซึ่งประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน  จึงเป็นโลกุตตรภูมิ  ฉะนั้น  จิตจึงต่างกันโดยภูมิ  คือ  จิต  ๘๙  จำแนกเป็น

กามาวจรจิต          ๕๔       ดวง

รูปาวจรจิต             ๑๕       ดวง

อรูปาวจรจิต          ๑๒        ดวง

โลกุตตรจิต             ๘         ดวง

ขณะใดที่ไม่ใช่รูปาวจรจิต  อรูปาวจรจิต  โลกุตตรจิต  ขณะนั้นต้องเป็นกามาวจรจิต

ชื่อว่า  "กาม"  เพราะอรรถว่า  อันสัตว์ใคร่  กามมี  ๒  อย่าง คือ  กิเลสกาม๑   วัตถุกาม๑

กิเลสกาม  ได้แก่  ฉันทราคะ  คือ  โลภเจตสิก  ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ยินดีพอใจติดข้องในอารมณ์

วัตถุกาม  คือ  สภาพธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดี  ความพอใจ  ความปรารถนา  ฉะนั้น วัตถุกาม  ได้แก่  วัฏฏะ  ซึ่งเป็นไปในภูมิทั้ง ๓ คือ  ทั้งกามภูม  รูปภูมิ  และอรูปภูมิ  เพราะไม่พ้นไปจากการเป็นวัตถุที่ยินดีพอใจของกิเลสกาม  ตราบใดที่ยังดับโลภะไม่ได้ก็ยังมีวัตถุกาม  คือ  สภาพธรรมซึ่งเป็นที่ยินดีพอใจของกิเลสกาม


.......................................